15 มิ.ย. 1215 วันลงนามในกฎบัตรแมกนาคาร์ตา กับไพ่ Justice

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.. 1215 พระเจ้าจอห์นแห่งอังกฤษ ได้บรรลุข้อตกลงกับเหล่าบารอน ขุนนางชั้นสูง ที่ Runnymede ริมแม่น้ำเทมส์ และได้ทรงลงตราประทับบนเอกสารข้อตกลงที่รู้จักกันในชื่อว่า แมกนาคาร์ตา (Magna Carta) หรือแปลตรงๆว่า มหากฎบัตร (The Great Charter)

แม้ว่ากฎบัตรนี้จะถูกยึดถือปฏิบัติตามเพียงแค่ 10 สัปดาห์ ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายกลับมาทำสงครามกันอีกครั้ง แต่อิทธิพลของกฎบัตรนี้กลับวางรากฐานให้กับแนวคิดการคุ้มครองเสรีภาพของมนุษย์และสิทธิมนุษยชน ภายใต้หลักการสำคัญที่ว่า ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมาย ปูทางไปสู่แนวคิดรัฐธรรมนูญที่ว่า แม้แต่กษัตริย์ก็ทรงปกครองภายใต้กฎหมายและหลักนิติธรรม

ตัวอย่างข้อความสำคัญของกฎบัตรนี้ เช่น
Clause 39: “No free man shall be seized or imprisoned, or stripped of his rights or possessions … except by the lawful judgment of his peers or by the law of the land.”
แปลได้ว่า มาตรา 39 “จะไม่มีบุคคลที่ถูกหน่วงเหนี่ยว หรือกักขัง หรือถูกยึด ขู่กรรโชก ทรัพย์สินโดยปราศจากคำตัดสินของศาล

เอกสารที่บันทึกข้อตกลงนี้และลงตราประทับของพระเจ้าจอห์นนั้น เชื่อกันว่าได้จัดทำขึ้นราว 40 ชุด แต่มีเพียง 4 ชุดเท่านั้นที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน โดย 2 ชุดอยู่ที่ British Library, 1 ชุดที่ปราสาทลินคอล์น, และอีก 1 ชุดที่ อาสนวิหารซาลิสบิวรี (Salisbury Cathedral)

เมื่อปี 2017 ผมได้มีโอกาสไปที่อาสนวิหารซาลิสบิวรี ในทริปที่เดินทางไปเที่ยวสโตนเฮนจ์ เพราะเมืองซาลิสบิวรี เป็นเมืองที่ใกล้สโตนเฮนจ์ เพียง 15 กิโลเมตรเท่านั้น ความโดดเด่นของอาสนวิหารแห่งนี้คือยอดวิหารที่สูงถึง 123 เมตร เมื่อเข้าไปด้านใน บรรยากาศก็เข้มขรึม นึกถึงภาพประกอบบนหน้าไพ่ไรเดอร์เวทสมิธหลายใบ โดยสมบัติที่ล้ำค่าที่สุดของที่นี่คือ กฎบัตรแมกนาคาร์ตา ฉบับจริง ที่เก็บรักษาไว้อย่างดี เราเข้าไปดูอย่างใกล้ชิดได้ แต่ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ

กฎบัตรแมกนาคาร์ตา บันทึกบน แผ่นหนังแกะ เขียนในภาษาละติน ด้วย ปากกาขนนก เนื่องจากยุคนั้น แผ่นหนังแกะมีราคาแพงมาก แผ่นนึงมีราคาเท่ากับค่าแรงชาวนาเป็นเวลา 2 สัปดาห์ จึงทำให้เขียนด้วยตัวอักษรที่เล็กมาก เว้นวรรคและบรรทัดนิดเดียว เพื่อประหยัดพื้นที่เขียนให้มากที่สุด เมื่อเขียนเสร็จแล้วก็จะลงตราประทับโดยพระเจ้าจอห์น

เมื่อผมเห็นตราประทับของพระเจ้าจอห์น และข้อความที่ทางเข้าชม กฎบัตรแมกนาคาร์ตา ที่ว่า “Magna Carta: Spirit of Justice- Power of Words” (แมกนา คาร์ตา จิตวิญญาณแห่งความยุติธรรม พลังของถ้อยคำ) ทำให้ผมคิดถึงไพ่ทาโรต์ ไพ่เมเจอร์หมายเลข 11 Justice ตุลาการ เพราะตราประทับของพระเจ้าจอห์นนั้น คือรูปพระองค์ประทับบนบัลลังก์ หัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบ (Sword) สัญลักษณ์ของอำนาจ หัตถ์ซ้ายทรงลูกกลม (Orb) สัญลักษณ์แห่งอำนาจเหนือราชอาณาจักร ประทับบนบัลลังก์ เพื่อตัดสินให้ความยุติธรรม ซึ่งภาพนี้คล้ายกับหน้าไพ่ Justice ต่างกันเพียงหัตถ์ซ้ายที่เปลี่ยนเป็น ตาชั่ง เท่านั้น ส่วนข้อความที่ว่า Spirit of Justice จิตวิญญาณแห่งความยุติธรรม Power of Words พลังของถ้อยคำ ก็ให้ความหมายของไพ่ Justice ในแง่อำนาจแห่งการใช้กฎหมาย อำนาจแห่งข้อตกลงสัญญา นั่นเอง

*******************************
เขียนโดย พัลลาส
Pallas@horauranian.com
15 มิถุนายน 2020
ครบรอบ 805 ปี แมกนา คาร์ตา
*******************************

เพลงของไพ่ 10 ดาบ : Rain On Me ซิงเกิลใหม่จากเลดี้กาก้า และเอริอานา แกรนเด

22 พ.ค. 2020 ที่ผ่านมา วงการเพลงป็อปทั่วโลกก็สั่นสะเทือน เมื่อศิลปินตัวแม่ระดับโลก 2 คน คือ เลดี้กาก้า และ เอริอานา แกรนเด ได้ปล่อยซิงเกิ้ลใหม่ชื่อ Rain On Me ออกมา พร้อมมิวสิกวิดีโอในเวลา 10:00 น. Pacific Time จนถึงขณะที่เขียนบทความนี้ ยอดคนดูใน YouTube ก็ทะลุ 34 ล้านครั้งไปแล้วภายในเวลาเพียง 48 ชั่วโมง

ดาบปักที่ต้นขาของเลดี้กาก้าเลย

พอดูมิวสิกวีดิโอนี้ที่มีภาพดาบตกลงมาพร้อมสายฝนมาปักที่ตัวเลดี้กาก้า ผมก็นึกถึงไพ่ 10 ดาบขึ้นมาทันที ไพ่ 10 ดาบเป็นไพ่แห่งความเจ็บปวดทรมาน ความล้มเหลว และความเสียใจ เนื้อหาเพลงนี้ก็สื่อไปในทางนั้นเช่นกัน

It’s coming down on me ให้มันตกลงมาที่ฉัน
Water like misery สายฝนแห่งความทุกข์ทน
It’s coming down on me ให้มันตกลงมา
I’am ready, rain on me! ฉันพร้อม สายฝนสาดมันลงมาที่ฉันเลย!

ศิลปินทั้งสองคนต่างก็ผ่านความทุกข์ทรมานในชีวิตระดับ 10 ดาบมาแล้วทั้งคู่ เลดี้กาก้า ถูกข่มขืนตอนอายุ 19 ปี (วงรอบเมโทนิกในทางโหราศาสตร์) เธอเก็บเรื่องนี้ไว้กับตนเอง ไม่ยอมบอกใคร จนเป็นโรคเครียดหลังภยันตราย (Post-Traumatic Stress Disorder) จนผ่านไปถึง 10 ปี เธอจึงยอมเปิดปากบอกสาธารณะถึงเหตุการณ์ดังกล่าวเมื่อเธออายุ 29 ปี (ครบวงรอบดาวเสาร์)

เอริอานา แกรนเด เธอเป็นศิลปินขวัญใจเด็กวัยรุ่นตอนต้น เธอก็เคยเผชิญเรื่องร้ายแรงระดับ 10 ดาบ เมื่อ 22 พ.ค. 2017 เมื่อเกิดเหตุระเบิดฆ่าตัวตาย ที่หน้าคอนเสิร์ตของเธอที่เมืองแมนเชสเตอร์ ทำให้มีผู้เคราะห์ร้ายเสียชีวิตไป 22 คน ไม่รวมผู้ก่อการร้ายที่เสียชีวิตด้วย (22 คน เท่ากับ ไพ่เมเจอร์ 22 ใบ) และด้วยเหตุที่แฟนเพลงของเธอต่างก็เป็นเด็กวัยรุ่นทำให้ผู้เสียชีวิตถึง 10 รายที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ผู้เสียชีวิตที่อายุน้อยที่สุดอายุแค่ 8 ปีเท่านั้น และยังมีผู้บาดเจ็บกว่า 800 คน เหตุการณ์นี้ถือว่าเป็นเรื่องเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในวงการคอนเสิร์ตโลก

เลดี้กาก้า และ อาเดรียนา แกรนเด

ศิลปินทั้งสองคนต่างก็ผ่านเรื่องร้ายแรงระดับ 10 ดาบ และเธอก็ถ่ายทอดผ่านบทเพลง Rain On Me จุดสำคัญที่ทั้งสองได้ชี้ทางออกเมื่อเจอเรื่องร้ายแรงขนาดนั้นก็คือ เนื้อเพลงตอนท้ายที่ว่า

Hands up to the sky ชูมือขึ้นสู่ฟ้า
I’ll be your galaxy ฉันจะเป็นกาแล็กซีของเธอ
I’m about to fly ฉันกำลังจะบินขึ้นไป

ไพ่ 10 ดาบ

ขอให้อดทนผ่านอุปสรรคความทุกข์ทนที่ต้องเจอ และเชื่อมั่นว่าในที่สุดทุกอย่างจะต้องดีขึ้น ก็เหมือนกับไพ่ 10 ดาบ ที่แม้คนจะถูกดาบปักทิ่มแทงถึง 10 เล่ม แต่มือขวาของเขาก็ยังชูสองนิ้ว เชื่อมั่นว่า เราจะต้องผ่านพ้นมันไปได้

*******************************
เขียนโดย พัลลาส
Pallas@horauranian.com
24 พฤษภาคม 2020
*******************************

ปล. ใครสนใจ MV นี้ เชิญชมได้ที่ https://youtu.be/AoAm4om0wTs

บก. ขอเล่า ตอน 2 : เมื่อหนังสือ รหัส นัย ดวงพิไชยสงคราม ได้ไปจัดแสดงที่ Frankfurt Book Fair งานหนังสือที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในโลก

โดย พัลลาส
เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2562

ตามที่ได้เล่าไปเมื่อคราวก่อน (อ่านได้ที่ https://thestarseer.com/2019/10/15/editor-duangpichai/ ) ว่า จุดเริ่มต้นของการขอให้ อ.พลังวัชร์ เขียนหนังสือ รหัส นัย ดวงพิไชยสงคราม นั้น เริ่มต้นจากจดหมายเชิญชวนจากสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ให้ส่งหนังสือไปร่วมจัดแสดงในธีม Thai Belief and Spirituality ในที่สุด หนังสือ รหัส นัย ดวงพิไชยสงคราม ก็ได้ไปจัดแสดงอย่างสมบูรณ์ในงาน Frankfurt Book Fair ที่นครแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี ระหว่าง 16-20 ตุลาคม 2562 เรียบร้อยแล้ว

 

Frankfurt Book Fair เป็นงานหนังสือที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในโลก งานนี้เริ่มจัดครั้งแรกเมื่อ 500 กว่าปีก่อน ในปี ค.ศ.1454 ซึ่งตอนนั้น กูเตนเบิร์ก เพิ่งประดิษฐ์เทคโนโลยีการพิมพ์ที่ใช้ตัวพิมพ์โลหะสำเร็จไม่กี่ปีก่อนหน้านั้นเอง พูดได้ว่า พอเริ่มมีการพิมพ์หนังสือ มีสำนักพิมพ์ขึ้น และงานหนังสือแฟรงก์เฟิร์ตก็ถือกำเนิดเพื่อเป็นศูนย์กลางตลาดค้าขายหนังสือขึ้นมาเลย งาน Frankfurt Book Fair ได้มีการจัดมาอย่างต่อเนื่อง มีเว้นช่วงบ้าง แต่ถือได้ว่า เป็นงานหนังสือที่เก่าแก่ที่สุดในโลกของจริง

ที่บอกว่า ใหญ่ที่สุดในโลก นั้น ดูจากตัวเลขจำนวนผู้มาออกบูธกว่า 7,500 รายจากกว่า 100 ประเทศ, ผู้เข้าชมงานกว่า 285,000 คน, นักสื่อสารมวลชนที่มาร่วมงานกว่า 10,000 คน และมีกิจกรรม (events) ในงานกว่า 4,000 กิจกรรม แต่รูปแบบการจัดงานน้ันต่างจากงานสัปดาห์หนังสือในเมืองไทยมาก เพราะ แฟรงก์เฟิร์ตบุ๊คแฟร์ ไม่ได้เน้นการขายหนังสือให้คนทั่วไป แต่เป็นการพบปะของเหล่าสำนักพิมพ์จากทั่วโลกเพื่อมาซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือกัน

 

 

 

ดังนั้น เมื่อผลงานหนังสือเล่มแรกของสำนักพิมพ์คนมองฟ้า ได้ไปจัดแสดงในงาน Frankfurt Book Fair งานหนังสือที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในโลก จึงเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของพวกเราสำนักพิมพ์คนมองฟ้า

 

ข้อมูลหนังสือ รหัส นัย ดวงพิไชยสงคราม ในภาษาอังกฤษ

Title: Decoding Duang Phichai Songkhram : From Legend to Contemporary
Genre: Nonfiction – Thai Belief and Spirituality
Author: Mr. Vorapon Maison (Palungwachara)
Publisher: Star Seer Books
Size: 23.5 cm x 17 cm

Synopsis:
Decoding Duang Phichai Songkram, the science and art that combine the great ancient wisdoms, i.e. astrology, astronomy, Buddhism, occultism, and yantra.
Duang Phichai Songkram is the horoscope which surrounds by Phichai Songkram Yantra. The calculation method of this horoscope is from Suriyayatra and Manasa Treatise. The astrologer must calculate every parameter thoroughly and diligently. This is the most important ritual part of Thai Astrology.
It is believed that the one who has Duang Phichai Songkram for worship will receive the bless to protect from any harms, life not going down, and become a glorious life.
• Legend and historical records
• Duang Phichai Songkram, Phichai Songkram Yantra, and Phichai Songkram Buddha statue
• 50+ samples of Duang Phichai Songkram and Yantra
• Duan Phichai Songkram in the present day
• How to place and worship, including related mantras
• Making of Duang Phichai Songkram in auspicious occasions by The Astrological Association of Thailand Foundation under the Patronage of the Supreme Patriarch
• Implications of Duang Phichai Songkram created by Palungwachara

 

 

เที่ยวร้านหนังสือโหราศาสตร์กลางกรุงลอนดอน ตอน 3

ร้านหนังสือโหราศาสตร์ที่น่าสนใจอีกแห่งในกรุงลอนดอน ก็คือ ร้าน The Atlantis Bookshop ร้านนี้ตั้งอยู่ใกล้ๆกับ บริติชมิวเซียม พิพิธภัณฑ์ที่ต้องไม่พลาดหากมีโอกาสมาเที่ยวลอนดอน เดินจากประตูหน้าบริติชมิวเซียม ไปทางถนน Museum Street ราวๆ 120 เมตร จะเห็นร้านนี้ตั้งอยู่ทางซ้ายพอดี ที่อยู่ของร้านคือ 49a Museum Street, Bloomsbury, London, WC1A 1LY

ร้านดิแอดแลนทิสบุ๊กช็อบนี้ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1922 นับถึงปีนี้ก็ 98 ปีแล้ว อีก 2 ปีก็ครบศตวรรษ ในเว็บไซต์ของร้านประกาศชัดเจนว่า ร้านนี้ก่อตั้งขึ้นโดยผู้ใช้เวทย์มนตร์ เพื่อผู้ใช้เวทย์มนตร์ (by Magicians for Magicians) เขายังเล่าไว้ด้วยว่า จอมเวทย์ที่มีชื่อเสียงในยุคศตวรรษที่ 20 (ตรงนี้ขอแปล magician ว่า จอมเวทย์นะครับ น่าจะตรงความหมายมากกว่า) ต่างก็เคยมาที่ร้านนี้ ไม่ว่าจะเป็น อเลสเตอร์ คราวลีย์ (ผู้ก่อตั้งลัทธิเธเลมา Thelema), ดิออน ฟอร์จูน (ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มภราดรภาพแห่งแสงสว่างภายใน Fraternity of the Inner Light), วิลเลียม ยีตส์ (กวีเอกชาวไอริช), อิสราเอล เรการ์ดี (จอมเวทย์ ศิษย์ของคราวลีย์) และ เจอรัลด์ การ์ดเนอร์ (จอมเวทย์และนักโบราณคดี) โดยรายหลังเคยมาจัดเสวนาที่ร้านนี้หลายต่อหลายครั้ง

หน้าร้าน The Atlantis Bookshop

ผมไปที่ร้านนี้ช่วงปีใหม่ เพิ่งผ่านคริสต์มาสไปไม่นาน หน้าร้านจึงยังประดับไฟและต้นคริสต์มาสอยู่ ตู้กระจกหน้าร้านแขวนไม้กวาดด้ามใหญ่ไว้ และยังมีไม้กวาดอีก 2 ด้ามวางตรงหน้าร้านเลย กระจกเหนือประตูหน้าร้าน มีคำอยู่ 3 คำที่บอกลักษณะของร้านชัดเจน ก็คือ Occult (เรื่องลึกลับเหนือธรรมชาติ), Bookshop (ร้านหนังสือ) และ Magic (เวทย์มนตร์)

โลโก้ร้านคล้ายมหาเทพซุส แต่ใส่แว่นดำ

โลโก้ของร้านเป็นรูปผู้ชายถือสายฟ้าสามสาย น่าจะหมายถึง มหาเทพซุส คล้ายๆว่าจะใส่แว่นดำ มีดาว 7 ดวงเรียงกันคล้ายคันธนู เลขที่บ้านของร้านคือ 49A ในวิชาเลขศาสตร์ เลข 4 คือดาวมฤตยู (หรือดาวยูเรนัส) หมายถึงศาสตร์ที่ทันสมัย ความคิดที่แหวกแนวไม่เหมือนใคร ซึ่งสะท้อนออกมาที่มหาเทพซุสใส่แว่นดำ ในโลโก้ร้าน ส่วนเลข 9 คือ ดาวอังคาร หมายถึง พลัง ความเคลื่อนไหว กิจกรรม รวมเลขทั้งสองแล้วคาดว่าร้านนี้น่าจะมีกิจกรรมที่แหวกไปจากความคิดของคนทั่วไปอยู่เสมอ

ในร้านมีหนังสือขายหลากหลายประเภท ทั้งโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ พิธีกรรม หนังสือใหม่ หนังสือเก่า หนังสือหายาก รวมไปถึง ไพ่ทาโรต์ ไพ่ออราเคิล เทียน กำยาน ลูกแก้วคริสตัล เทวรูป เครื่องประดับ และอุปกรณ์สายเวทย์ มากมาย ร้านนี้มีขนาดไม่ใหญ่เพียงคูหาเดียว โดยเขายังมีห้องประชุมขนาด 5×6 ตร.เมตร ให้จัดเวิร์กชอป รวมไปถึงให้เช่าอุปกรณ์สายเวทย์ และกองถ่ายทีวีภาพยนตร์สามารถมาใช้ที่นี่เป็นฉากถ่ายทำได้ด้วย

ที่ร้านนี้ ผมได้ซื้อนิตยสาร The Esotoracle ซึ่งเป็นนิตยสารเกี่ยวกับไพ่ทาโรต์ ไพ่ออราเคิล พิมพ์ด้วยกระดาษอาร์ตสี่สีทั้งเล่ม เป็นนิตยสารหัวใหม่เพิ่งออกเป็นเล่มแรก ฉบับฤดูหนาว 2019 ซึ่งพออ่านด้านในแล้วจึงทราบว่า เป็นนิตยสารที่ร้าน The Atlantis Bookshop เป็นผู้สนับสนุนหลัก เนื้อหาน่าอ่านมากครับ แค่หน้าปกรูปไพ่ 2 ไม้เท้า วาดแบบใหม่ ก็สวยมากแล้ว

สำหรับผู้ที่สนใจเที่ยวร้านโหราศาสต์และร้านสายเวทย์เหล่านี้ ยังมีอีกหลายร้านในย่าน Bloomsbury ซึ่งอยู่ใกล้บริติชมิวเซียม เช่น ร้าน It’s All Greek มีของเกี่ยวกับกรีกอยู่มากมาย, Watkins Books ร้านที่เปิดมาตั้งแต่ปี 1893, Freemasons’ Hall สมาคมฟรีเมสันแห่งลอนดอน เป็นต้น ใครได้มีโอกาสไปเที่ยวชม อย่าลืมมาเล่าสู่กันฟังด้วยนะครับ

*******************************
เขียนโดย พัลลาส
Pallas@horauranian.com
7 กุมภาพันธ์ 2020
*******************************

โหราศาสตร์ กับที่มาของวันทั้ง 7 ในรอบสัปดาห์

ผมเคยสงสัยมาตลอดว่าทำไมเราถึงใช้สัปดาห์มี 7 วัน ทำไมไม่ทำให้สอดคล้องกับเดือนในแต่ละเดือน หรือจำนวนวัน ใน 1 ปี เคยลองพยายามหาสมมุติฐานไปเรื่อย สิ่งที่ใกล้เคียงที่สุดคือ หลักการของทฤษฏีวงรอบของจันทรคติ คือ ประมาณ 28-30 วันต่อ 1 รอบ

ต้นกำเนิด และที่มาทำไมต้อง 7 วัน

จากการค้นคว้าหาข้อมูล พบว่า การใช้สัปดาห์มี 7 วัน มีมาตั้งแต่ยุคสุเมเรียน และบาบิโลน โดยมีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลกว่า ได้มีการกำหนดให้หนึ่งสัปดาห์มี 7 วัน เมื่อประมานปีที่ 2350 ก่อนคริสตศักราช (2350BC) โดยกษัตริย์ซาร์ก้อนที่หนึ่งแห่งนครอัคคาด (Sargon I, King of Akkad) ภายหลังจากที่ได้ยึดครองเมืองอูร์ (Ur) และเมืองอื่น ๆ ในคว้นสุเมอร์เรีย (Sumeria) ชื่อของกษัตริย์องค์นี้ และเมืองนี้มีการอ้างถึงในหนังสือคัมภีร์สูตรเรือนชะตาของอาจารย์ประยูร พลอารีย์ ซึ่งผมจะไปค้นคว้าเพิ่มเติม แล้วกลับมาเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไป

นอกจากเมืองอูร์จะเป็นต้นกำเนิดของการกำหนดให้สัปดาห์หนึ่งมีเจ็ดวันแล้ว ยังเป็นต้นกำเนิดของการกำหนดให้หนึ่งชั่วโมงมี 60 นาทีด้วย เพราะในยุคนั้น ชาวซุเมอร์เรียนใช้ระบบเลขหลัก 60 ในการคำนวน (แทนการใช้ระบบทศนิยมในปัจจุบัน)

ในยุคสมัยนั้น มนุษย์มีความเชื่อว่า โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล หรือเรียกว่า Geocentric ดวงอาทิตย์ และสิ่งต่างบนท้องฟ้าต่างโคจรรอบโลก และค้นพบว่ามีดาวเคราะห์ที่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า (naked eye planets) อยู่ 5 ดวง ซึ่งประกอบด้วย ดาวพุธ ดาวอังคาร ดาวศุกร์ ดาวพฤหัส และดาวเสาร์ เคลื่อนที่ผ่านกลุ่มดาวฤกษ์ (Fix Stars) หรือกลุ่มดาวในจักรราศี และเมื่อรวมกับ ดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ ก็จะมีดาวบริวารของโลกทั้งสิ้น 7 ดวง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำไมสัปดาห์จึงมี 7 วัน จะเห็นได้จากชื่อที่ใช้เรียกในแต่ละวันยังคงมีความหมายที่เกี่ยวข้องกับดาว หรือตามตำนานของเทพเจ้าประจำดาว ทั้ง 7

การเรียงลำดับของวันในสัปดาห์ (Order)

และเมื่อค้นลึกลงไปอีก ก็เป็นที่น่าประหลาดใจและเหลือเชื่ออย่างยิ่งว่า จริงๆแล้วการเรียงวันในสัปดาห์ มีรากฐานมาจากโหราศาสตร์นั้นเอง

เมื่อโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล โดยมีดาวทั้ง 7 ดวงที่โคจรอยู่รอบโลกนั้น ดาวก็ถูกจัดเรียงลำดับตามระบบปโตเลมี (Ptolemaic system) คือ เรียงจากดาวไกลสุดจากโลกมากที่สุดมายังดาวใกล้โลกมากที่สุด โดยใช้อัตราการโคจรรอบโลกเป็นตัววัด จึงได้การเรียงลำดับดังนี้ เสาร์ พฤหัส อังคาร อาทิตย์ ศุกร์ พุธ และจันทร์ ดังรูปที่แสดง

โมเดลสุริยจักรวาล แบบปโตเลมี ซึ่งมีโลกเป็นศูนย์กลาง (Geocentric)

และจากนั้นให้แต่ละชั่วโมงมีดาวเป็นดาวประจำชั่วโมงอยู่ โดยเรียงลำดับตาม เสาร์ พฤหัส อังคาร อาทิตย์ ศุกร์ พุธ และจันทร์ ตามลำดับ และวนรอบไปเรื่อยๆ เรียกว่า “Planetary Hours” ซึ่งก็คือ ระบบยามแบบสากล นั่นเอง

Planetary Hours หรือ ยามแบบสากล เป็นวิธีการทำนายกาลชะตา (Horary) แบบหนึ่ง ซึ่งยังคงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย แล้วผมจะมาเล่าเพิ่มเติม ว่าน่าสนใจเพียงใด มีวิธีการทำนาย และการคำนวณอย่างไร

ดาว 7 แฉก ตามยามแต่ละชั่วโมง (Heptagram of the week)

ชั่วโมงแรกของรุ่งอรุณของวันที่ 1 เริ่มต้นที่ ดาวเสาร์ ให้ชื่อว่า “ชั่วโมงของเสาร์” ถัดไปชั่วโมงที่ 2 เป็น “ชั่วโมงของพฤหัส” ชั่วโมงที่ 3 เป็น “ชั่วโมงของอังคาร” ชั่วโมงต่อไป เป็น “ชั่วโมงของอาทิตย์“, “ชั่วโมงของศุกร์“, “ชั่วโมงของพุธ” และ “ชั่วโมงของจันทร์” ตามลำดับ และเมื่อครบรอบ 7 ชั่วโมง ก็จะวนกลับมาที่ “ชั่วโมงของเสาร์” ใหม่ เป็นวงรอบไปเรื่อยๆไม่รู้จบ

ดังนั้นชั่วโมงที่ 25 หรือชั่วโมงที่ 1 ของวันที่ 2 ก็จะเป็น “ชั่วโมงของอาทิตย์” และชั่วโมงที่ 49 หรือชั่วโมงที่ 1 ของวันที่ 3 คือ “ชั่วโมงของจันทร์

และเมื่อเรียงลำดับชั่วโมงไปเรื่อย ครบทั้ง 7 วัน เราก็จะพบว่าชื่อของวันนั้น คือ ดาวที่ประจำของรุ่งอรุณในแต่ละวัน ดังนั้นจริงๆ แล้ววันแรกในสัปดาห์จะเริ่มต้นด้วย “วันเสาร์” และถัดไปคือ วันอาทิตย์ จันทร์ อังคาร พฤหัสบดี และ ศุกร์ ตามลำดับ

หากท่านใดมีความรู้เรื่องยามอัฐกาล ของโหราศาสตร์ไทย ก็จะพบว่าลำดับดาวพระเคราห์ประจำยามในภาคกลางวัน มีการเรียงลำดับตามระบบปโตเลมี ซึ่งอาจาร์ยพลูหลวง เคยเขียนบทความถึงความมหัศจรรย์ของดาว 7 แฉกนี้ ทั้งเรื่องของยามอัฐกาล และ เลข 7 ตัว

ดวงเจ็ดแฉก (Heptagram)
ลำดับดาวเคราะห์ตามความเร็วโคจรเรียงเป็นวงกลม ส่วนเส้นตรงเชื่อมดาว คือ ลำดับของวันในสัปดาห์

ชื่อวัน ใน 1 สัปดาห์ (The Names of the Days)

การกำหนดชื่อวันในแต่ละสัปดาห์ในทุกชาติทุกภาษาจะตั้งชื่อให้เกี่ยวข้องกับเทพเจ้าในตำนาน หรือมีความหมายตามดาวดาวทั้ง 7 แทบทั้งสิ้น สมัยแรกๆ จะให้วันเสาร์ (Saturday) เป็นวันแรกของสัปดาห์ ต่อมา ได้นับถือดวงอาทิตย์มากขึ้น จึงให้วันของดวงอาทิตย์ (Sun’s day) เลื่อนอันดับ จากวันอันดับที่ 2 ของสัปดาห์ เป็นวันแรกของสัปดาห์แทน ทำให้วันเสาร์ กลายเป็นวันลำดับที่ 7 ของสัปดาห์ไปในที่สุด

วันอาทิตย์ (Sunday)
มีชื่อมาจากภาษาละติน ว่า “dies solis” หมายถึง “วันของดวงอาทิตย์” (Sun’s day) เป็นชื่อวันหยุดของคนนอกศาสนา และต่อมา ถูกเรียกว่า “Dominica” (ภาษาละติน) หมายถึง “วันของพระเจ้า” (the Day of God) ต่อมา ภาษาที่มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน เช่น ฝรั่งเศส, สเปน, อิตาเลี่ยน ก็ยังคงใช้คำที่คล้ายกับรากศัพท์ดังกล่าว เช่น

• ภาษาฝรั่งเศส: dimanche;
• ภาษาอิตาเลี่ยน: domenica;
• ภาษาสเปน: domingo
• ภาษาเยอรมัน: Sonntag;
• ภาษาดัทช์: zondag ทั้งหมดมีความหมายว่า “Sun-day”

วันจันทร์ (Monday)
มีชื่อมาจากคำว่า “monandaeg” หมายถึง “วันของดวงจันทร์” (The Moon’s day) เป็นวันที่สองของสัปดาห์ ที่ตั้งขึ้นมา เพื่อสักการะ “เทพธิดาแห่งดวงจันทร์” (The goddess of the moon)

• ภาษาฝรั่งเศส: lundi;
• ภาษาอิตาเลี่ยน: lunedi; 
• ภาษาสเปน: lunes (มาจากคำว่า Luna หมายถึง “ดวงจันทร์”)
• ภาษาเยอรมัน: Montag; 
• ภาษาดัทช์: maandag ทั้งหมดมีความหมายว่า “Moon-day” 

วันอังคาร (Tuesday)
เป็นชื่อเทพเจ้า Tyr ของชาวนอรเวโบราณ (The Norse god Tyr) ส่วนชาวโรมัน เรียกเป็นชื่อสำหรับเทพเจ้าสงคราม แห่งดาวอังคาร (the war-god Mars) ว่า “dies Martis”
• ภาษาฝรั่งเศส: mardi;
• ภาษาอิตาเลี่ยน: martedi;
• ภาษาสเปน: martes
• ภาษาเยอรมัน: Diensdag;
• ภาษาดัทช์: dinsdag;
• ภาษาสวีเดน: tisdag

วันพุธ (Wednesday)
เป็นวันที่ตั้งเป็นเกียรติสำหรับ เทพเจ้า Odin ของชาวสวีเดน และนอรเวโบราณ ส่วนชาวโรมันเรียกว่า “dies Mercurii” สำหรับใช้เรียกเทพเจ้า Mercury (ประจำดาวพุธ)

• ภาษาฝรั่งเศส: mercredi; 
• ภาษาอิตาเลี่ยน: mercoledi; 
• ภาษาสเปน: miercoles
• ภาษาเยอรมัน: Mittwoch; 
• ภาษาดัทช์: woensdag

วันพฤหัสบดี (Thursday)
เป็นชื่อเทพเจ้า Thor ของชาวนอรเวโบราณ (The Norse god Thor) เรียกว่า “Torsdag” ส่วนชาวโรมัน เรียกเป็นชื่อสำหรับเทพเจ้า Jove หรือ Jupiter ซึ่งเป็นเทพเจ้า แห่งเทพทั้งปวง และเรียกวันนี้ว่า “dies Jovis” หมายถึง วันของ Jove (Jove’s Day)

• ภาษาฝรั่งเศส: jeudi; 
• ภาษาอิตาเลี่ยน: giovedi; 
• ภาษาสเปน: el jueves
• ภาษาเยอรมัน: Donnerstag; 
• ภาษาดัทช์: donderdag ทั้งหมดมีความหมายว่า “วันสายฟ้า” (Thundar day)

วันศุกร์ (Friday)
เป็นชื่อเทพธิดา Frigg ของชาวนอรเวโบราณ (The Norse goddess Frigg) ภาษาเยอรมันเคยเรียกว่า “frigedag” ส่วนชาวโรมัน เรียกเป็นชื่อสำหรับเทพธิดา Venus ว่า “dies veneris”

• ภาษาฝรั่งเศส: vendredi; 
• ภาษาอิตาเลี่ยน: venerdi; 
• ภาษาสเปน: viernes
• ภาษาเยอรมัน: Freitag; 
• ภาษาดัทช์: vrijdag

วันเสาร์ (Saturday)
ชาวโรมันใช้เรียกเป็นชื่อสำหรับเทพเจ้า Saturn ว่า “dies Saturni” หมายถึง Saturn’s Day.

• ภาษาฝรั่งเศส: samedi;
• ภาษาอิตาเลี่ยน: sabato;
• ภาษาสเปน: el sabado
• ภาษาเยอรมัน: Samstag;
• ภาษาดัทช์: zaterdag;
• ภาษาสวีเดน: Lordag
• ภาษาเดนมาร์คและนอรเว: Lordag หมายถึง “วันชำระล้าง” (Washing day)

ที่มา
http://en.wikipedia.org/wiki/days_of_the_week
http://www.walkinthelight.ca/History%20of%20the%20Calendar.htm
http://www.hermetic.ch/cal_stud/hlwc/why_seven.htm
http://www.pantheon.org/miscellaneous/origin_days.html
http://www.skeptics.com.au/journal/1995/1_calendar.htm
http://www.users.globalnet.co.uk/~loxias/week.htm
http://web1.dara.ac.th/daraspace/Mythology/DayMonthName.htm
http://www.renaissanceastrology.com/planetaryhoursarticle.html

*******************************
เขียนโดย Phainon
เมื่อ กันยายน 2549
ลงใน http://www.horauranian.com
*******************************

สัตว์มงคลประจำวันเกิดแบบพม่า

ที่ประเทศพม่า มีคติการไหว้ทิศประจำวันเกิดตามดาวพระเคราะห์ประจำวันเกิด ซึ่งตรงกับหลักทักษาของไทย เวลาเราไปสักการะพระเจดีย์ในประเทศพม่า จะนิยมไปไหว้พระพุทธรูปที่อยู่ประจำทิศวันเกิดของเรา ทิศรอบพระเจดีย์นั้นจะแบ่งเป็น 8 ทิศ ส่วนวันเกิดในรอบสัปดาห์มี 7 วัน ตรงนี้คติของไทย จะแยกผู้ที่เกิดวันพุธกลางวัน (ดาวพุธ) กับวันพุธกลางคืน (ราหู) ออกจากกัน ส่วนของพม่านั้น จะกำหนด ราหู เป็นดาวสำหรับผู้ที่ไม่ทราบวันเกิดของตน

นอกจากทิศประจำวันเกิดแล้ว ธรรมเนียมของพม่าจะมีสัตว์มงคลประจำวันเกิดทั้งแปดอีกด้วย ซึ่งผมขอสรุปมาดังนี้]

ผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สัตว์มงคลคือ ครุฑ
ผู้ที่เกิดวันจันทร์ ทิศตะวันออก สัตว์มงคลคือ เสือ
ผู้ที่เกิดวันอังคาร ทิศตะวันออกเฉียงใต้ สัตว์มงคลคือ สิงห์
ผู้ที่เกิดวันพุธ ทิศใต้ สัตว์มงคลคือ ช้างมีงา
ผู้ที่เกิดวันพฤหัสบดี ทิศตะวันตก สัตว์มงคลคือ หนูมีหาง
ผู้ที่เกิดวันศุกร์ ทิศเหนือ สัตว์มงคลคือ หนูไม่มีหาง
ผู้ที่เกิดวันเสาร์ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ สัตว์มงคลคือ นาค
ผู้ไม่ทราบวันเกิด (หรือเกิดพุธกลางคืน) ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ สัตว์มงคลคือ ช้างไม่มีงา

สำหรับผู้สนใจจะไปเที่ยวสายบุญที่มัณฑะเลย์ พม่า ในวันวสันตวิษุวัต ที่มีฤกษ์พลิกชีวิตประจำปี กับ อ.กามล แสงวงศ์ และ อ.พัลลาส รีบจองทัวร์ ได้เลยครับ หมดเขตจองภายในเดือนนี้แล้ว
เป็นโอกาสพิเศษสุดที่จะได้ร่วม พิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี และสวดมนต์ในวันวสันตวิษุวัต เสริมดวง เปลี่ยนชีวิต ลิขิตชะตากับ อาจารย์กามล คนลิขิตดวง ในแพคเกจ ทัวร์พลิกชีวิตมัณฑะเลย์ อมรปุระ สะกาย อังวะ มินกุน 19-21 มี.ค 63 รายละเอียดคลิก >> bit.ly/32O1kv0

****************************
เขียนโดย พัลลาส
pallas@horauranian.com
****************************

เที่ยวร้านหนังสือโหราศาสตร์กลางกรุงลอนดอน ตอน 1

มีคนจำนวนมากคิดไปว่า โหราศาสตร์และคาถาอาคมเป็นเรื่องที่มีเฉพาะประเทศแถบบ้านเรา แต่จริงๆแล้ว มีฝรั่งตะวันตกจำนวนมากสนใจศึกษาเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง อย่างประเทศอังกฤษ ถือว่าเป็นศูนย์กลางการศึกษาโหราศาสตร์ที่สำคัญของโลก เมื่อ 70 ปีก่อน ปรมาจารย์โหรคนไทย อาจารย์ จรัญ พิกุล หลังจากวางฤกษ์ให้คณะปฏิวัติทำการสำเร็จ ก็ได้ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียนโหราศาสตร์เพิ่มเติมที่อังกฤษ เงินที่ใช้เป็นค่าใช้จ่ายมาเรียนก็มาจากการขายที่ดิน มาศึกษาจบ อ.จรัญ ก็กลับไปประกอบอาชีพโหรเป็นหลัก เรื่องนี้เป็นตำนานที่เหล่านักโหราศาสตร์เมืองไทยเล่าสู่กันฟังด้วยความทึ่งปนอึ้ง

ตอนที่ผมไปเที่ยวอังกฤษ คนอื่นๆเขาคงวางแผนไปเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวๆดังๆตามที่แนะนำกัน แต่ผมในฐานะนักโหราศาสตร์ ก็มีจุดหมายที่ต้องไปอยู่หลายแห่ง ที่แรกก็คือ บริติชมิวเซียม (British Museum) เพราะเป็นพิพิธภัณฑ์โบราณคดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในฐานะโหร ก็ต้องไปดูจารึกที่เกี่ยวกับโหราศาสตร์ ที่อังกฤษขนย้ายมาจาก หอสมุดพระเจ้าอัชชูบานิปาล (Library of Ashurbanipal) กว่า 30,000 ชิ้น เป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่ชี้ชัดว่า โหราศาสตร์ได้ถือกำเนิดในดินแดนเมโสโปเตเมียมากว่า 5,000 ปีแล้ว มีจารึกอักษรคูนิฟอร์มที่เป็นดวงชะตาที่คำนวณตามตำราโหราศาสตร์ยุคนั้น รวมถึงปฏิทินดวงดาวและคำพยากรณ์เหตุการณ์ต่างๆ

สถานที่ท่องเที่ยวแห่งที่สอง ที่พลาดไม่ได้คือ สโตนเฮนจ์ (Stonehenge) กองหินขนาดยักษ์ที่วางเรียงตามตำแหน่งของปรากฏการณ์ดารา-โหราศาสตร์ เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมในวันที่ปรากฏการณ์ท้องฟ้าที่สำคัญ ซึ่งผมจะเขียนเล่าให้ฟังในวันหลัง วันนี้คือเขียนถึงร้านหนังสือโหราศาสตร์ก่อน

ย่านใกล้ๆกับ บริติชมิวเซียม เป็นย่านที่มีร้านหนังสือโหราศาสตร์และศาสตร์ลี้ลับอยู่หลายร้าน น่าจะมีไม่ต่ำกว่า 5-6 ร้าน

ร้านแรกที่ผมได้เข้าไปคือ ร้าน Treadmill’s Bookshop ร้านนี้ตั้งอยู่ที่ 33 Store Street WC1E 7BS London เป็นอาคารห้องแถวขนาดหนึ่งห้อง ในเว็บไซต์ของร้านบอกเล่าไว้ว่า คริสตินา โอคลีย์ แฮร์ริงตัน ได้เปิดกิจการร้านนี้เมื่อวันแรงงาน (May Day) เมื่อปี 2003

โลโก้ของร้านเป็นรูป เทพี ถือแถบผ้าที่มีภาษาละติน จากข้อมูลของร้านไม่ได้ระบุว่าเป็นเทพีองค์ไหน แต่ผมสันนิษฐานว่าหมายถึง May Queen เพราะวันเปิดร้านเป็นวัน May Day ซึ่งธรรมเนียมอังกฤษจะมีการแต่งกายเป็น May Queen ในวันดังกล่าว เมย์ควีนคือสตรีที่ใส่ชุดขาว สวมเทียร่า คล้ายกับโลโก้ของร้านหนังสือร้านนี้เลย

วันที่ผมไป ทางร้านกำลังโปรโมตหนังสือ The Witch ที่ตู้กระจกหน้าร้าน ชื่อ The Witch ก็ชัดอยู่แล้วว่า เป็นเรื่องของพ่อมดแม่มด เล่มนี้เขียนโดย โรนัลด์ ฮัตตัน ว่าด้วยประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพ่อมดแม่มดในยุโรป ทางร้านเขาก็เลยประดับร้านด้วยไม้กวาด ให้เข้ากับเรื่อง

ด้านในของร้าน แบ่งตามหมวดหมู่หนังสือ ผมสนใจหนังสือโหราศาสตร์ แต่มีไม่มากนัก โชคดีได้หนังสือเก่ามาเล่มนึง ชื่อ Casting the Horoscope (การคำนวณดวงชะตา) เขียนโดย อลัน ลีโอ ปรมาจารย์โหรคนสำคัญในยุคต้นศตวรรษที่ 20 เล่มนี้พิมพ์เมื่อปี 1930 ราคาตามปก 15 ปอนด์ ซึ่งน่าจะแพงมากในยุคนั้น (ส่วนราคาที่ผมซื้อจากร้าน ผมจำไม่ได้แล้วว่าเท่าไร น่าจะแพงกว่าราคาปกพอสมควร)

หมวดหนังสือที่มีค่อนข้างเยอะ จะเป็นหนังสือไพ่ทาโรต์ ที่ร้านนี้น่าจะเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ ผมซื้อตำราไพ่ทาโรต์ของ Aleister Crowley ซึ่งก็เป็นคนดังด้านเวทย์และพิธีลึกลับของอังกฤษยุคต้นศตวรรษที่ 20 เช่นกัน ไพ่ทาโรต์ของเขาจะต่างจากชุด Rider-Waite อยู่บางใบ

ด้านในร้านจะมีขายอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการทำพิธีทางเวทย์มนต์และไสยศาสตร์ มีทั้งลูกแก้วคริสตัล กระถางกำยาน เชิงเทียน หินรูน ธูปหอม แต่ที่ดูจะขายดีอย่างน่าประหลาดใจจะเป็น เทียนสำหรับพิธีเวทย์ ซึ่งมีสีหลัก 7 สี ตามดาวเคราะห์ทั้งเจ็ดที่ตามองเห็น แต่สีจะต่างไปจากตำราของไทย ได้แก่ ดาวอาทิตย์ คือสีเหลือง, ดาวจันทร์ สีฟ้าหรือสีเงิน, ดาวพุธ สีส้ม, ดาวศุกร์ สีเขียวหรือชมพู, ดาวอังคาร สีแดง, ดาวพฤหัส สีม่วง และดาวเสาร์ สีดำหรือน้ำตาล ผมซื้อตำราการทำพิธีเทียนเวทย์มนต์มาด้วย มีรายละเอียดของการทำพิธีละเอียดมากทีเดียว ทั้งการจัดสถานที่ การวางเทียน การหาฤกษ์ทำพิธี และคาถาต่างๆ

ในร้านยังมีชั้นใต้ดิน ซึ่งบรรยากาศลึกลับมาก เข้ากับบรรยากาศพ่อมดแม่มดมากๆ พนักงานประจำร้านก็มีหน้าตาคล้ายๆ ลูน่า เลิฟกู๊ด ในนิยายแฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่ร้านนี้ยังมีจัดสอนไพ่ทาโรต์อีกด้วย ใครสนใจก็แวะไปเที่ยวชมได้ครับ

*******************************
เขียนโดย พัลลาส
Pallas@horauranian.com
22 มกราคม 2020
*******************************

เที่ยวร้านหนังสือโหราศาสตร์กลางกรุงลอนดอน ตอน 2

ตอนแรก ผมได้เล่าถึงร้าน Treadmill’s Bookshop ไปแล้ว ตอนที่สองนี้ ขอเล่าถึงร้านหนังสือโหราศาสตร์อีกร้านในกรุงลอนดอน ที่ผมประทับใจมาก นั่นคือ ร้าน The Astrology Shop ซึ่งตั้งอยู่ที่ 78 Neal St, London WC2H 9PA เป็นย่าน Seven Dials ที่มีร้านน่ารักน่านั่งน่าชมอยู่มากมายหลายร้าน และอยู่ไม่ไกลจากโรงละคร Palace Theatre ที่มีละครเวที Harry Potter and the Cursed Child แสดงอยู่

ร้านนี้เป็นอาคารห้องแถวตามสไตล์ของอังกฤษเช่นกัน ร้านนี้เปิดทำการมาตั้งแต่ปี 1989 ถึงแม้ว่าชื่อจะเป็นร้านโหราศาสตร์ แต่คำอธิบายของร้านนี้ เขาระบุว่าเป็นแนว Esoteric หรือแปลไทยว่า แนวลี้ลับ นั่นเอง

ที่ผมชอบร้านนี้มาก ก็ตรงที่การตกแต่งของร้าน อาคารด้านนอก ตรงชั้น 2 และ 3 ทาสีเขียว มีสัญลักษณ์ราศีมีน อยู่ 4 จุด ราศีมีน ซึ่งเป็นราศีของดาวเนปจูน คือราศีของโหราศาสตร์แนวลี้ลับ (ต่างจากโหราศาสตร์แนววิทยาการ ซึ่งเป็นราศีกุมภ์และดาวมฤตยู) ส่วนชั้น 1 ที่เป็นหน้าร้าน ทาเป็นสีน้ำเงินคราม ป้ายชื่อร้านตัวพิมพ์ใหญ่ว่า THE ASTROLOGY SHOP มีสัญลักษณ์เลข 78 ซึ่งเป็นบ้านเลขที่ ปิดหัวท้าย เลข 7 ในทางเลขศาสตร์ไคโร คือดาวเนปจูน ก็คือโหราศาสตร์แนวลี้ลับ และเลข 8 คือดาวเสาร์ ซึ่งหมายถึงศาสตร์โบราณ

ประตูทางเข้าร้านอยู่ตรงกลาง มีตู้กระจกหน้าร้านตกแต่งได้อย่างสวยงามอยู่สองด้านขนาบประตู ตู้กระจกด้านซ้าย (เมื่อมองจากหน้าร้าน) เป็นลายจักรราศี งดงามมาก ส่วนตู้กระจกด้านขวา จัดวางลูกโลก หินมงคล หนังสือ ไพ่ อุปกรณ์โหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ พร้อมมีป้ายบอกบริการพยากรณ์ดวงชะตาในรูปแบบต่างๆ (เช่น ดูดวงด้วยการพิมพ์จากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ความยาว 15 หน้า ราคา 24 ปอนด์ต่อดวง)

ร้านนี้มีลูกค้าเดินเข้าร้านกันอย่างคึกคัก มีหนังสือโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ ความเชื่อ สิ่งลี้ลับ วางจำหน่ายจำนวนมาก แต่สินค้าที่ขายดีที่สุดเท่าที่ผมสังเกตเห็นก็คือ หินสี หินมงคล ฝรั่งเดินเข้ามาเลือกหินมงคลแก้เคล็ดเสริมดวงกันตลอดเวลา ขายดิบขายดีมากๆ

สินค้าที่โดดเด่นเท่าที่ผมสังเกตเห็นก็คือ ไพ่ทาโรต์ ไพ่ออราเคิล เทียนมงคล (สีตามดาว แบบที่ผมเล่าในตอน 1) กำยาน ธูปหอม น้ำมันหอมระเหย รูปปั้นเทพเจ้า เทพี อียิปต์ เครื่องราง เครื่องประดับมงคล รวมไปถึงอุปกรณ์ที่นักพยากรณ์นิยมจัดวางไว้ในร้าน มีจำหน่ายในร้านนี้อย่างครบครัน

ด้วยความที่ร้านนี้ตั้งอยู่ใกล้แหล่งช้อปปิ้งกลางกรุงลอนดอน ไม่ไกลจากไชน่าทาวน์ และจตุรัสเลสเตอร์ อีกทั้งภายในร้านตกแต่งได้อย่างสวยงาม คนที่สนใจเรื่องโหราศาสตร์และศาสตร์ลี้ลับ หากได้ไปเที่ยวลอนดอน ก็แนะนำให้แวะไปเยี่ยมชม แค่ไปถ่ายรูปหน้าร้านก็ได้ภาพสวยๆแล้วครับ

บทความเรื่อง เที่ยวร้านหนังสือโหราศาสตร์กลางกรุงลอนดอน ยังมีอีกตอน เป็นตอนที่ 3 ผมจะพาไปชมร้านโหราศาสตร์อีกแห่งที่เปิดกิจการมาแล้วเกือบ 100 ปี อย่าลืมติดตามกันนะครับ

*******************************
เขียนโดย พัลลาส
Pallas@horauranian.com
31 มกราคม 2020
*******************************

O Noble Fool! A Worthy Fool!

ช่วงสิ้นปี 2019 ที่ผ่านมา ผมได้ไปเที่ยวที่อังกฤษ ได้ไปพักที่ เมือง สแตรทฟอร์ด-อัพออน-เอวอน บ้านเกิดของเช็คสเปียร์ส กวีเอกของอังกฤษ ตรงถนนด้านหน้าบ้านหลังที่เช็คสเปียร์เกิด มีรูปปั้นอยู่ตรงหัวถนน นั่นคือ รูปปั้น The Fool

ในบทประพันธ์ของเช็คสเปียร์ส มักมีตัวละครที่เป็น ตัวตลก The Fool หรือที่เรียกว่า Jester เข้ามาในฉากอยู่หลายครั้ง อย่างประโยคที่ว่า “O Noble Fool! A Worthy Fool!” ที่จารึกไว้ที่ฐานของรูปปั้นนี้ มาจากบทประพันธ์เรื่อง As You Like It ซึ่งล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชนิพนธ์แปลไว้ในชื่อเรื่องว่า “ตามใจท่าน”

ประโยคว่า O Noble Fool! A Worthy Fool! นั้น หากเราแปลคำว่า Fool ว่า โง่เขลา ก็แปลประโยคนี้ได้ว่า “โอ ชนชั้นสูงที่โง่เขลา! คนร่ำรวยที่โง่เขลา!” ประโยคนี้พูดโดย ฌาคส์ หลังจากที่เขาได้สนทนากับ The Fool แล้วพบว่า The Fool ตัวตลกพูดจาได้อย่างฉลาด หรือในสำนวนพระราชนิพนธ์แปลของรัชกาลที่ ๖ ว่า “ตลกใยรู้ธรรมขำหนักหนา”

เมื่อมาคิดถึงไพ่ The Fool ไพ่ใบแรกของไพ่ทาโรต์ ก็ดูสอดคล้องกับบทละครเช็คสเปียร์ดังกล่าว เพราะ The Fool หมายถึง คนที่คิดไม่เหมือนใคร มีอิสระเสรี ไม่ยึดติดกับกรอบ มีความกล้าที่จะผจญภัย มีมุมมองที่แตกต่างไปจากคนอื่นๆ เป็นช่วงเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ

ในช่วงปีใหม่เช่นนี้ จึงขอให้ทุกท่านมีความสุข ได้เริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ กล้าลองทำสิ่งที่แตกต่างไปจากเคย เพราะบางทีมุมมองแบบ The Fool อาจเปิดโลกใหม่ที่สวยงามและนำไปสู่ความสำเร็จความสุขที่ที่เรามองข้ามไปก็ได้

*****************************
เขียนโดย พัลลาส
7 ม.ค. 2020
*****************************

เทพแห่งโชคลาภทั้งเจ็ดของญี่ปุ่น

นอกจาก เทพไดโคคุเทน ที่ได้เล่าไปเมื่อครั้งก่อนว่า เป็นเทพแห่งความร่ำรวยของญี่ปุ่นแล้ว ยังมีเทพอีก 6 องค์ ที่รวมกันเรียกว่า เทพแห่งโชคลาภทั้งเจ็ด (七福神 ฉิชิฟุกุจิน)

ฉิชิ 七 แปลว่า เจ็ด,

ฟุกุ 福 แปลว่า โชคลาภ ทรัพย์สมบัติ ซึ่งก็คือคำว่า ฝู ในภาษาจีนกลาง หรือ ฮก ในภาษาแต้จิ๋ว,

และ จิน 神 แปลว่า เทพเจ้า (ในภาษาญี่ปุ่น คำนี้อ่านได้อีกแบบว่า คะมิ) ซึ่งก็คือคำว่า เสิน หรือ เซียน ในภาษาจีนกลาง

ในบรรดาเทพเจ้าทั้งเจ็ดนี้ มีถึง 6 องค์ที่เป็นความเชื่อที่ญี่ปุ่นรับมาจากศาสนาพุทธและฮินดู จากอินเดียผ่านจีนที่ผสานความเชื่อในลัทธิเต๋า เข้ามายังญี่ปุ่น และวิวัฒน์จนกลายมาเป็น วัฒนธรรมญี่ปุ่น มีเพียงเทพอีบิสึ องค์เดียวเท่านั้นที่เป็นเทพที่เกิดจากญี่ปุ่นเอง

การรวมเทพทั้งเจ็ดมาเรียกรวมกันเป็นคณะนี้ เชื่อกันว่าเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 15 และมีหลักฐานเป็นภาพวาด โดย คะโนะ ยาสุโนบุ ขุนนางในศตวรรษที่ 17 ว่ากันว่า เริ่มจากพระเถระ เทนไค ได้สนทนากับโชกุนอิเอมิตสึ โตกุกะวะ แล้วกลับมาสรรหาตัวแทนของคุณธรรมที่เพียบพร้อมของคนเราในยุคนั้น เมื่อท่านสรุปได้ ต่อมาท่านยาสุโนบุ จึงได้วาดภาพขึ้นมา

เทพทั้งเจ็ดนี้ มาจากคติของอินเดีย 3 องค์ ได้แก่

1. เทพไดโคคุเทน 大黒天หรือ เทพมหากาฬ ท่ีเคยเล่าไปแล้ว เป็นเทพตัวแทนคุณธรรมในเรื่อง โชคลาภ ทรัพย์สมบัติ

2. เทพีเบนไซเทน 弁財天 หรือ พระสุรัสวดี เป็นเทพีแห่งความรู้ ศิลปะ ดนตรี และปัญญา เป็นเทพีตัวแทนคุณธรรมในเรื่อง มิตรภาพ

3. เทพบิซามอนเทน 毘沙門天 หรือ ท้าวเวสสุวรรณ (ท้าวกุเวร) เป็นหนึ่งในจาตุมหาราช ผู้ดูแลทิศเหนือ เจ้าแห่งยักษ์ และเป็นเจ้าแห่งขุมทรัพย์ เป็นเทพตัวแทนคุณธรรมเรื่องเกียรติยศ

คติของจีน 3 องค์ ได้แก่

1. โฮเทอิ 布袋 ที่เป็นพระรูปร่างอ้วน อารมณ์ดี ซึ่งเป็นชาติหนึ่งของพระศรีอริยเมตไตรยโพธิสัตว์ในคติจีน ใบหน้าของท่านยิ้มแย้มอารมณ์ดี อ้วนท้วน สะพายถุงย่ามที่มีอาหารและทรัพย์สมบัติที่ไม่มีวันหมด เป็นเทพตัวแทนคุณธรรมเรื่องความเอื้ออารี และความไม่เห็นแก่ตัว

2. จุโรจิน 寿老人 คือองค์เดียวกับเทพ โซว่ ในภาษาจีนกลาง หรือ ซิ่ว ในภาษาแต้จิ๋ว ซึ่งเป็นหนึ่งในเทพ ฮก ลก ซิ่ว ที่นิยมนับถือกันในหมู่ชาวจีน เป็นผู้เฒ่าแห่งดาวขั้วโลกใต้ ลักษณะของเทพองค์นี้คือเป็นผู้เฒ่าเครายาว มือหนึ่งถือไม้เท้า อีกมือถือผลท้อ เป็นเทพตัวแทนคุณธรรมในเรื่อง การมีอายุยืน

3. ฟุกุโรกุจู 福禄寿 คำนี้ในภาษาแต้จิ๋ว ก็คือ ฮกลกซิ่ว หรือ ฝูหลูโซว่ ในภาษาจีนกลาง แต่ในคณะเทพทั้งเจ็ดของญี่ปุ่นนี้ จะแทนด้วยเทพองค์เดียวคือ เทพ ฝู เป็นชายชรา มือหนึ่งถือไม้เท้า อีกมือถือคัมภีร์ หรือพัด ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเทพจุโรจิน จนแยกแยะออกจากกันยาก เป็นเทพตัวแทนคุณธรรมในเรื่อง ความโด่งดัง

และที่เป็นคติของญี่ปุ่น มีเพียงองค์เดียว ก็คือ เทพอีบิสึ 恵比須 เทพแห่งการประมง เป็นรูปชาย มือหนึ่งถือเบ็ดตกปลา อีกมืออุ้มปลา ท่านเป็นเทพตัวแทนคุณธรรมในเรื่องความยุติธรรมและความซื่อตรง ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ เบียร์เยบิสึ ของญี่ปุ่น ก็มาจากชื่อเทพองค์นี้ โลโก้ของเบียร์ก็คือรูปเทพอีบิสึ มือหนึ่งถือเบ็ด อีกมืออุ้มปลา ผมเคยลองดื่มแล้ว รสชาติอร่อยเลยทีเดียว

เทพแห่งโชคลาภทั้งเจ็ดนี้ ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะยุคปัจจุบันที่คนเราต่างแสวงหาความมั่งคั่ง รูปคณะเทพที่เห็นได้บ่อยแบบหนึ่งจะเป็นรูปเทพทั้งเจ็ดอยู่บนเรือข้ามทะเล เราจะเรียกว่า เทพแห่งโชคลาภทั้งเจ็ดข้ามสมุทร ก็ได้ ซึ่งจะคล้ายกับความเชื่อของจีนที่มี แปดเซียน หรือ โป๊ยเซียน ซึ่งมีรูปที่นิยมวาดกันเป็น แปดเซียนข้ามสมุทร กล่าวได้ว่า นี่คือการผสมผสานทางวัฒนธรรมนั่นเอง

ไว้คราวหน้ามีโอกาสจะมาเล่าเจาะลึกเทพแต่ละองค์อีกครั้งนะครับ

รูปประกอบ คือ รูปเทพแห่งโชคลาภทั้งเจ็ด ที่วัดนันโซอิน จังหวัดฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น

*********************************

โดย พัลลาส

pallas@horauranian.com

19 พ.ย. 2019

*********************************

#เที่ยวแบบโหร #คนมองฟ้า #StarSeer #พัลลาส