เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1215 พระเจ้าจอห์นแห่งอังกฤษ ได้บรรลุข้อตกลงกับเหล่าบารอน ขุนนางชั้นสูง ที่ Runnymede ริมแม่น้ำเทมส์ และได้ทรงลงตราประทับบนเอกสารข้อตกลงที่รู้จักกันในชื่อว่า แมกนาคาร์ตา (Magna Carta) หรือแปลตรงๆว่า มหากฎบัตร (The Great Charter)
แม้ว่ากฎบัตรนี้จะถูกยึดถือปฏิบัติตามเพียงแค่ 10 สัปดาห์ ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายกลับมาทำสงครามกันอีกครั้ง แต่อิทธิพลของกฎบัตรนี้กลับวางรากฐานให้กับแนวคิดการคุ้มครองเสรีภาพของมนุษย์และสิทธิมนุษยชน ภายใต้หลักการสำคัญที่ว่า ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมาย ปูทางไปสู่แนวคิดรัฐธรรมนูญที่ว่า แม้แต่กษัตริย์ก็ทรงปกครองภายใต้กฎหมายและหลักนิติธรรม
ตัวอย่างข้อความสำคัญของกฎบัตรนี้ เช่น
Clause 39: “No free man shall be seized or imprisoned, or stripped of his rights or possessions … except by the lawful judgment of his peers or by the law of the land.”
แปลได้ว่า มาตรา 39 “จะไม่มีบุคคลที่ถูกหน่วงเหนี่ยว หรือกักขัง หรือถูกยึด ขู่กรรโชก ทรัพย์สินโดยปราศจากคำตัดสินของศาล“
เอกสารที่บันทึกข้อตกลงนี้และลงตราประทับของพระเจ้าจอห์นนั้น เชื่อกันว่าได้จัดทำขึ้นราว 40 ชุด แต่มีเพียง 4 ชุดเท่านั้นที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน โดย 2 ชุดอยู่ที่ British Library, 1 ชุดที่ปราสาทลินคอล์น, และอีก 1 ชุดที่ อาสนวิหารซาลิสบิวรี (Salisbury Cathedral)
เมื่อปี 2017 ผมได้มีโอกาสไปที่อาสนวิหารซาลิสบิวรี ในทริปที่เดินทางไปเที่ยวสโตนเฮนจ์ เพราะเมืองซาลิสบิวรี เป็นเมืองที่ใกล้สโตนเฮนจ์ เพียง 15 กิโลเมตรเท่านั้น ความโดดเด่นของอาสนวิหารแห่งนี้คือยอดวิหารที่สูงถึง 123 เมตร เมื่อเข้าไปด้านใน บรรยากาศก็เข้มขรึม นึกถึงภาพประกอบบนหน้าไพ่ไรเดอร์เวทสมิธหลายใบ โดยสมบัติที่ล้ำค่าที่สุดของที่นี่คือ กฎบัตรแมกนาคาร์ตา ฉบับจริง ที่เก็บรักษาไว้อย่างดี เราเข้าไปดูอย่างใกล้ชิดได้ แต่ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ
กฎบัตรแมกนาคาร์ตา บันทึกบน แผ่นหนังแกะ เขียนในภาษาละติน ด้วย ปากกาขนนก เนื่องจากยุคนั้น แผ่นหนังแกะมีราคาแพงมาก แผ่นนึงมีราคาเท่ากับค่าแรงชาวนาเป็นเวลา 2 สัปดาห์ จึงทำให้เขียนด้วยตัวอักษรที่เล็กมาก เว้นวรรคและบรรทัดนิดเดียว เพื่อประหยัดพื้นที่เขียนให้มากที่สุด เมื่อเขียนเสร็จแล้วก็จะลงตราประทับโดยพระเจ้าจอห์น
เมื่อผมเห็นตราประทับของพระเจ้าจอห์น และข้อความที่ทางเข้าชม กฎบัตรแมกนาคาร์ตา ที่ว่า “Magna Carta: Spirit of Justice- Power of Words” (แมกนา คาร์ตา จิตวิญญาณแห่งความยุติธรรม พลังของถ้อยคำ) ทำให้ผมคิดถึงไพ่ทาโรต์ ไพ่เมเจอร์หมายเลข 11 Justice ตุลาการ เพราะตราประทับของพระเจ้าจอห์นนั้น คือรูปพระองค์ประทับบนบัลลังก์ หัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบ (Sword) สัญลักษณ์ของอำนาจ หัตถ์ซ้ายทรงลูกกลม (Orb) สัญลักษณ์แห่งอำนาจเหนือราชอาณาจักร ประทับบนบัลลังก์ เพื่อตัดสินให้ความยุติธรรม ซึ่งภาพนี้คล้ายกับหน้าไพ่ Justice ต่างกันเพียงหัตถ์ซ้ายที่เปลี่ยนเป็น ตาชั่ง เท่านั้น ส่วนข้อความที่ว่า Spirit of Justice จิตวิญญาณแห่งความยุติธรรม Power of Words พลังของถ้อยคำ ก็ให้ความหมายของไพ่ Justice ในแง่อำนาจแห่งการใช้กฎหมาย อำนาจแห่งข้อตกลงสัญญา นั่นเอง
*******************************
เขียนโดย พัลลาส
Pallas@horauranian.com
15 มิถุนายน 2020
ครบรอบ 805 ปี แมกนา คาร์ตา
*******************************