โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
23 กรกฎาคม 2559
เป็นที่รู้กันในหมู่ลูกศิษย์ว่า สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหมฺคุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร องค์ปัจจุบัน ท่านนิยมสร้างพระกริ่งพระพุทธอุดมสมบูรณ์ ในวาระต่างๆ อยู่เสมอ ที่มาที่ไปของเรื่องนี้ มีเรื่องเล่ามาว่า
เมื่อปี ๒๕๓๓ ขณะสมเด็จพระวันรัตดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชสุมนต์มุนี ได้รับพระพุทธรูปงาแกะขนาดเล็ก ศิลปะแบบจีน จากเมืองซัวเถา สาธารณรัฐประชาชนจีน พระพุทธรูปองค์นี้แกะสลักจากงาช้างด้วยฝีมือช่างชั้นเยี่ยม เป็นพระพุทธรูปแบบขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย พระหัตถ์ซ้ายถือลูกแก้ว ลำพระองค์อวบอ้วน ประทับนั่งบนฐานบัวสองชั้น แสดงถึงความสุขสมบูรณ์ทางร่างกาย อันหมายถึงความมั่งมีและสมบูรณ์พร้อมด้วยความสุข พระเดชพระคุณท่านจึงได้ถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธอุดมสมบูรณ์”
หลังจากนั้น พระเดชพระคุณท่านได้จัดสร้างพระกริ่ง ซึ่งจำลองแบบสร้างจากพระพุทธอุดมสมบูรณ์ อีกหลายต่อหลายรุ่น ซึ่งเรียกกันว่า “พระกริ่งพระพุทธอุดมสมบูรณ์” และจากรูปลักษณะขององค์พระที่มีลักษณะอวบอ้วนอุดมสมบูรณ์ จึงมักเรียกกันในบรรดาหมู่ลูกศิษย์ว่า “พระกริ่งปุ้มปุ้ย”

ในหนังสือ “ประวัติพระกริ่งพระพุทธอุดมสมบูรณ์” ตอนท้ายหนังสือ ได้ตีพิมพ์ คาถาบูชาพระพุทธอุดมสมบูรณ์ เอาไว้ ซึ่งคาถาดังกล่าวคือ ธรรมะว่าด้วย อริยทรัพย์ ๗ หรือ ทรัพย์อันประเสริฐ ๗ ประการ อันได้แก่
ศรัทธา (เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ เชื่อในกฎแห่งกรรม เชื่อในธรรมะของพระพุทธเจ้า),
ศีล (รักษากายวาจาให้ดี),
หิริ (ละอายต่อบาป),
โอตตัปปะ (เกรงกลัวต่อบาป),
สุตะ (การฟังธรรม รวมถึงการอ่าน),
จาคะ (บริจาคเพื่อลดตระหนี่)
และปัญญา (รู้จักเหตุและผลตามความเป็นจริง)
ท่านกล่าวเอาไว้ว่า ผู้ใดมีอริยทรัพย์ ผู้นั้นย่อมเป็นคนมั่งมี เป็นผู้ไม่จน ชีวิตย่อมไม่สูญเปล่า ทรัพย์อื่นใด หามาแล้วนำไปซื้ออย่างอื่นก็ย่อมหมดไป แต่อริยทรัพย์ ได้มาแล้วไปซื้อคุณธรรมอื่นๆ ก็ไม่มีวันหมดสิ้น
คาถาบูชาพระพุทธอุดมสมบูรณ์
(ตั้ง นะโม ๓ จบ)
สัทธาธะนัง สีละธะนัง หิริโอตตัปปิยัง ธะนัง
สุตะธะนัญจะ จาโค จะ ปัญญา เว สัตตะมัง ธะนัง
ยัสสะ เอตา ธะนา อัตถิ อิตถิยา ปุริสัสสะ วา
อะทะลิทโทติ ตัง อาหุ อะโมฆัง ตัสสะ ชีวิตัง ฯ
(๓ จบ)
สำหรับคำแปลของคาถานี้ ขอนำส่วนหนึ่งจากเทศนากัณฑ์ “อริยทรัพย์” โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ เมื่อครั้งบรรพชาเป็นสามเณรพรรษาแรก ที่วัดเทวสังฆาราม จ.กาญจนบุรี เป็นเทศน์กัณฑ์แรกในชีวิตของพระองค์ท่าน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ ดังนี้
“ทรัพย์คือสัทธา ทรัพย์คือศีล ทรัพย์คือหิริ ทรัพย์คือโอตตัปปะ
ทรัพย์คือสุตะ ทรัพย์คือจาคะ ทรัพย์คือปัญญาเป็นที่ ๗
ทรัพย์เหล่านี้มีอยู่แก่บุคคลผู้ใด จะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม
บัณฑิตกล่าวผู้นั้นว่าเป็นผู้ไม่จน แลชีวิตความเป็นอยู่ของผู้นั้นไม่เปล่า”
สมเด็จพระวันรัต ท่านเป็นพระเถระ ผู้ซึ่งสอนธรรมะแทรกลงไปในทุกเรื่องเสมอ ท่านเคยสอนผมว่า เวลาสวดมนต์ ให้เลือกสวดบทที่มีธรรมะด้วย จะได้ทั้งศรัทธาและปัญญาไปพร้อมกัน ดังนั้น พระเครื่องที่ท่านสร้างขึ้น จึงแฝงหลักการนี้ไปด้วย นั่นคือ คนส่วนใหญ่บูชาพระเครื่องด้วยศรัทธา หวังพึ่งอำนาจบารมีของพระเครื่องมาคุ้มครองและส่งเสริมตัวเรา ชื่อพระกริ่งพระพุทธอุดมสมบูรณ์ ก็เช่นกัน บรรดาลูกศิษย์ส่วนใหญ่ต่างบูชามุ่งหวังจะเคล็ดว่า บูชาพระแล้ว ตัวเราเองจะเกิดความอุดมสมบูรณ์ดังเช่นชื่อของพระ สมเด็จพระวันรัตจึงมอบคาถาอริยทรัพย์มาให้สวดบูชา เพื่อที่ผู้สวดจะได้รับธรรมะที่อยู่ใน อริยทรัพย์ ไปพร้อมกัน จะได้เกิด ปัญญา ที่จะมองเห็นว่า ทรัพย์สำคัญที่สุดที่เราควรสะสม ก็คือ อริยทรัพย์ นั่นเอง