เที่ยวร้านหนังสือโหราศาสตร์กลางกรุงลอนดอน ตอน 3

ร้านหนังสือโหราศาสตร์ที่น่าสนใจอีกแห่งในกรุงลอนดอน ก็คือ ร้าน The Atlantis Bookshop ร้านนี้ตั้งอยู่ใกล้ๆกับ บริติชมิวเซียม พิพิธภัณฑ์ที่ต้องไม่พลาดหากมีโอกาสมาเที่ยวลอนดอน เดินจากประตูหน้าบริติชมิวเซียม ไปทางถนน Museum Street ราวๆ 120 เมตร จะเห็นร้านนี้ตั้งอยู่ทางซ้ายพอดี ที่อยู่ของร้านคือ 49a Museum Street, Bloomsbury, London, WC1A 1LY

ร้านดิแอดแลนทิสบุ๊กช็อบนี้ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1922 นับถึงปีนี้ก็ 98 ปีแล้ว อีก 2 ปีก็ครบศตวรรษ ในเว็บไซต์ของร้านประกาศชัดเจนว่า ร้านนี้ก่อตั้งขึ้นโดยผู้ใช้เวทย์มนตร์ เพื่อผู้ใช้เวทย์มนตร์ (by Magicians for Magicians) เขายังเล่าไว้ด้วยว่า จอมเวทย์ที่มีชื่อเสียงในยุคศตวรรษที่ 20 (ตรงนี้ขอแปล magician ว่า จอมเวทย์นะครับ น่าจะตรงความหมายมากกว่า) ต่างก็เคยมาที่ร้านนี้ ไม่ว่าจะเป็น อเลสเตอร์ คราวลีย์ (ผู้ก่อตั้งลัทธิเธเลมา Thelema), ดิออน ฟอร์จูน (ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มภราดรภาพแห่งแสงสว่างภายใน Fraternity of the Inner Light), วิลเลียม ยีตส์ (กวีเอกชาวไอริช), อิสราเอล เรการ์ดี (จอมเวทย์ ศิษย์ของคราวลีย์) และ เจอรัลด์ การ์ดเนอร์ (จอมเวทย์และนักโบราณคดี) โดยรายหลังเคยมาจัดเสวนาที่ร้านนี้หลายต่อหลายครั้ง

หน้าร้าน The Atlantis Bookshop

ผมไปที่ร้านนี้ช่วงปีใหม่ เพิ่งผ่านคริสต์มาสไปไม่นาน หน้าร้านจึงยังประดับไฟและต้นคริสต์มาสอยู่ ตู้กระจกหน้าร้านแขวนไม้กวาดด้ามใหญ่ไว้ และยังมีไม้กวาดอีก 2 ด้ามวางตรงหน้าร้านเลย กระจกเหนือประตูหน้าร้าน มีคำอยู่ 3 คำที่บอกลักษณะของร้านชัดเจน ก็คือ Occult (เรื่องลึกลับเหนือธรรมชาติ), Bookshop (ร้านหนังสือ) และ Magic (เวทย์มนตร์)

โลโก้ร้านคล้ายมหาเทพซุส แต่ใส่แว่นดำ

โลโก้ของร้านเป็นรูปผู้ชายถือสายฟ้าสามสาย น่าจะหมายถึง มหาเทพซุส คล้ายๆว่าจะใส่แว่นดำ มีดาว 7 ดวงเรียงกันคล้ายคันธนู เลขที่บ้านของร้านคือ 49A ในวิชาเลขศาสตร์ เลข 4 คือดาวมฤตยู (หรือดาวยูเรนัส) หมายถึงศาสตร์ที่ทันสมัย ความคิดที่แหวกแนวไม่เหมือนใคร ซึ่งสะท้อนออกมาที่มหาเทพซุสใส่แว่นดำ ในโลโก้ร้าน ส่วนเลข 9 คือ ดาวอังคาร หมายถึง พลัง ความเคลื่อนไหว กิจกรรม รวมเลขทั้งสองแล้วคาดว่าร้านนี้น่าจะมีกิจกรรมที่แหวกไปจากความคิดของคนทั่วไปอยู่เสมอ

ในร้านมีหนังสือขายหลากหลายประเภท ทั้งโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ พิธีกรรม หนังสือใหม่ หนังสือเก่า หนังสือหายาก รวมไปถึง ไพ่ทาโรต์ ไพ่ออราเคิล เทียน กำยาน ลูกแก้วคริสตัล เทวรูป เครื่องประดับ และอุปกรณ์สายเวทย์ มากมาย ร้านนี้มีขนาดไม่ใหญ่เพียงคูหาเดียว โดยเขายังมีห้องประชุมขนาด 5×6 ตร.เมตร ให้จัดเวิร์กชอป รวมไปถึงให้เช่าอุปกรณ์สายเวทย์ และกองถ่ายทีวีภาพยนตร์สามารถมาใช้ที่นี่เป็นฉากถ่ายทำได้ด้วย

ที่ร้านนี้ ผมได้ซื้อนิตยสาร The Esotoracle ซึ่งเป็นนิตยสารเกี่ยวกับไพ่ทาโรต์ ไพ่ออราเคิล พิมพ์ด้วยกระดาษอาร์ตสี่สีทั้งเล่ม เป็นนิตยสารหัวใหม่เพิ่งออกเป็นเล่มแรก ฉบับฤดูหนาว 2019 ซึ่งพออ่านด้านในแล้วจึงทราบว่า เป็นนิตยสารที่ร้าน The Atlantis Bookshop เป็นผู้สนับสนุนหลัก เนื้อหาน่าอ่านมากครับ แค่หน้าปกรูปไพ่ 2 ไม้เท้า วาดแบบใหม่ ก็สวยมากแล้ว

สำหรับผู้ที่สนใจเที่ยวร้านโหราศาสต์และร้านสายเวทย์เหล่านี้ ยังมีอีกหลายร้านในย่าน Bloomsbury ซึ่งอยู่ใกล้บริติชมิวเซียม เช่น ร้าน It’s All Greek มีของเกี่ยวกับกรีกอยู่มากมาย, Watkins Books ร้านที่เปิดมาตั้งแต่ปี 1893, Freemasons’ Hall สมาคมฟรีเมสันแห่งลอนดอน เป็นต้น ใครได้มีโอกาสไปเที่ยวชม อย่าลืมมาเล่าสู่กันฟังด้วยนะครับ

*******************************
เขียนโดย พัลลาส
Pallas@horauranian.com
7 กุมภาพันธ์ 2020
*******************************

โหราศาสตร์ กับที่มาของวันทั้ง 7 ในรอบสัปดาห์

ผมเคยสงสัยมาตลอดว่าทำไมเราถึงใช้สัปดาห์มี 7 วัน ทำไมไม่ทำให้สอดคล้องกับเดือนในแต่ละเดือน หรือจำนวนวัน ใน 1 ปี เคยลองพยายามหาสมมุติฐานไปเรื่อย สิ่งที่ใกล้เคียงที่สุดคือ หลักการของทฤษฏีวงรอบของจันทรคติ คือ ประมาณ 28-30 วันต่อ 1 รอบ

ต้นกำเนิด และที่มาทำไมต้อง 7 วัน

จากการค้นคว้าหาข้อมูล พบว่า การใช้สัปดาห์มี 7 วัน มีมาตั้งแต่ยุคสุเมเรียน และบาบิโลน โดยมีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลกว่า ได้มีการกำหนดให้หนึ่งสัปดาห์มี 7 วัน เมื่อประมานปีที่ 2350 ก่อนคริสตศักราช (2350BC) โดยกษัตริย์ซาร์ก้อนที่หนึ่งแห่งนครอัคคาด (Sargon I, King of Akkad) ภายหลังจากที่ได้ยึดครองเมืองอูร์ (Ur) และเมืองอื่น ๆ ในคว้นสุเมอร์เรีย (Sumeria) ชื่อของกษัตริย์องค์นี้ และเมืองนี้มีการอ้างถึงในหนังสือคัมภีร์สูตรเรือนชะตาของอาจารย์ประยูร พลอารีย์ ซึ่งผมจะไปค้นคว้าเพิ่มเติม แล้วกลับมาเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไป

นอกจากเมืองอูร์จะเป็นต้นกำเนิดของการกำหนดให้สัปดาห์หนึ่งมีเจ็ดวันแล้ว ยังเป็นต้นกำเนิดของการกำหนดให้หนึ่งชั่วโมงมี 60 นาทีด้วย เพราะในยุคนั้น ชาวซุเมอร์เรียนใช้ระบบเลขหลัก 60 ในการคำนวน (แทนการใช้ระบบทศนิยมในปัจจุบัน)

ในยุคสมัยนั้น มนุษย์มีความเชื่อว่า โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล หรือเรียกว่า Geocentric ดวงอาทิตย์ และสิ่งต่างบนท้องฟ้าต่างโคจรรอบโลก และค้นพบว่ามีดาวเคราะห์ที่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า (naked eye planets) อยู่ 5 ดวง ซึ่งประกอบด้วย ดาวพุธ ดาวอังคาร ดาวศุกร์ ดาวพฤหัส และดาวเสาร์ เคลื่อนที่ผ่านกลุ่มดาวฤกษ์ (Fix Stars) หรือกลุ่มดาวในจักรราศี และเมื่อรวมกับ ดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ ก็จะมีดาวบริวารของโลกทั้งสิ้น 7 ดวง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำไมสัปดาห์จึงมี 7 วัน จะเห็นได้จากชื่อที่ใช้เรียกในแต่ละวันยังคงมีความหมายที่เกี่ยวข้องกับดาว หรือตามตำนานของเทพเจ้าประจำดาว ทั้ง 7

การเรียงลำดับของวันในสัปดาห์ (Order)

และเมื่อค้นลึกลงไปอีก ก็เป็นที่น่าประหลาดใจและเหลือเชื่ออย่างยิ่งว่า จริงๆแล้วการเรียงวันในสัปดาห์ มีรากฐานมาจากโหราศาสตร์นั้นเอง

เมื่อโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล โดยมีดาวทั้ง 7 ดวงที่โคจรอยู่รอบโลกนั้น ดาวก็ถูกจัดเรียงลำดับตามระบบปโตเลมี (Ptolemaic system) คือ เรียงจากดาวไกลสุดจากโลกมากที่สุดมายังดาวใกล้โลกมากที่สุด โดยใช้อัตราการโคจรรอบโลกเป็นตัววัด จึงได้การเรียงลำดับดังนี้ เสาร์ พฤหัส อังคาร อาทิตย์ ศุกร์ พุธ และจันทร์ ดังรูปที่แสดง

โมเดลสุริยจักรวาล แบบปโตเลมี ซึ่งมีโลกเป็นศูนย์กลาง (Geocentric)

และจากนั้นให้แต่ละชั่วโมงมีดาวเป็นดาวประจำชั่วโมงอยู่ โดยเรียงลำดับตาม เสาร์ พฤหัส อังคาร อาทิตย์ ศุกร์ พุธ และจันทร์ ตามลำดับ และวนรอบไปเรื่อยๆ เรียกว่า “Planetary Hours” ซึ่งก็คือ ระบบยามแบบสากล นั่นเอง

Planetary Hours หรือ ยามแบบสากล เป็นวิธีการทำนายกาลชะตา (Horary) แบบหนึ่ง ซึ่งยังคงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย แล้วผมจะมาเล่าเพิ่มเติม ว่าน่าสนใจเพียงใด มีวิธีการทำนาย และการคำนวณอย่างไร

ดาว 7 แฉก ตามยามแต่ละชั่วโมง (Heptagram of the week)

ชั่วโมงแรกของรุ่งอรุณของวันที่ 1 เริ่มต้นที่ ดาวเสาร์ ให้ชื่อว่า “ชั่วโมงของเสาร์” ถัดไปชั่วโมงที่ 2 เป็น “ชั่วโมงของพฤหัส” ชั่วโมงที่ 3 เป็น “ชั่วโมงของอังคาร” ชั่วโมงต่อไป เป็น “ชั่วโมงของอาทิตย์“, “ชั่วโมงของศุกร์“, “ชั่วโมงของพุธ” และ “ชั่วโมงของจันทร์” ตามลำดับ และเมื่อครบรอบ 7 ชั่วโมง ก็จะวนกลับมาที่ “ชั่วโมงของเสาร์” ใหม่ เป็นวงรอบไปเรื่อยๆไม่รู้จบ

ดังนั้นชั่วโมงที่ 25 หรือชั่วโมงที่ 1 ของวันที่ 2 ก็จะเป็น “ชั่วโมงของอาทิตย์” และชั่วโมงที่ 49 หรือชั่วโมงที่ 1 ของวันที่ 3 คือ “ชั่วโมงของจันทร์

และเมื่อเรียงลำดับชั่วโมงไปเรื่อย ครบทั้ง 7 วัน เราก็จะพบว่าชื่อของวันนั้น คือ ดาวที่ประจำของรุ่งอรุณในแต่ละวัน ดังนั้นจริงๆ แล้ววันแรกในสัปดาห์จะเริ่มต้นด้วย “วันเสาร์” และถัดไปคือ วันอาทิตย์ จันทร์ อังคาร พฤหัสบดี และ ศุกร์ ตามลำดับ

หากท่านใดมีความรู้เรื่องยามอัฐกาล ของโหราศาสตร์ไทย ก็จะพบว่าลำดับดาวพระเคราห์ประจำยามในภาคกลางวัน มีการเรียงลำดับตามระบบปโตเลมี ซึ่งอาจาร์ยพลูหลวง เคยเขียนบทความถึงความมหัศจรรย์ของดาว 7 แฉกนี้ ทั้งเรื่องของยามอัฐกาล และ เลข 7 ตัว

ดวงเจ็ดแฉก (Heptagram)
ลำดับดาวเคราะห์ตามความเร็วโคจรเรียงเป็นวงกลม ส่วนเส้นตรงเชื่อมดาว คือ ลำดับของวันในสัปดาห์

ชื่อวัน ใน 1 สัปดาห์ (The Names of the Days)

การกำหนดชื่อวันในแต่ละสัปดาห์ในทุกชาติทุกภาษาจะตั้งชื่อให้เกี่ยวข้องกับเทพเจ้าในตำนาน หรือมีความหมายตามดาวดาวทั้ง 7 แทบทั้งสิ้น สมัยแรกๆ จะให้วันเสาร์ (Saturday) เป็นวันแรกของสัปดาห์ ต่อมา ได้นับถือดวงอาทิตย์มากขึ้น จึงให้วันของดวงอาทิตย์ (Sun’s day) เลื่อนอันดับ จากวันอันดับที่ 2 ของสัปดาห์ เป็นวันแรกของสัปดาห์แทน ทำให้วันเสาร์ กลายเป็นวันลำดับที่ 7 ของสัปดาห์ไปในที่สุด

วันอาทิตย์ (Sunday)
มีชื่อมาจากภาษาละติน ว่า “dies solis” หมายถึง “วันของดวงอาทิตย์” (Sun’s day) เป็นชื่อวันหยุดของคนนอกศาสนา และต่อมา ถูกเรียกว่า “Dominica” (ภาษาละติน) หมายถึง “วันของพระเจ้า” (the Day of God) ต่อมา ภาษาที่มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน เช่น ฝรั่งเศส, สเปน, อิตาเลี่ยน ก็ยังคงใช้คำที่คล้ายกับรากศัพท์ดังกล่าว เช่น

• ภาษาฝรั่งเศส: dimanche;
• ภาษาอิตาเลี่ยน: domenica;
• ภาษาสเปน: domingo
• ภาษาเยอรมัน: Sonntag;
• ภาษาดัทช์: zondag ทั้งหมดมีความหมายว่า “Sun-day”

วันจันทร์ (Monday)
มีชื่อมาจากคำว่า “monandaeg” หมายถึง “วันของดวงจันทร์” (The Moon’s day) เป็นวันที่สองของสัปดาห์ ที่ตั้งขึ้นมา เพื่อสักการะ “เทพธิดาแห่งดวงจันทร์” (The goddess of the moon)

• ภาษาฝรั่งเศส: lundi;
• ภาษาอิตาเลี่ยน: lunedi; 
• ภาษาสเปน: lunes (มาจากคำว่า Luna หมายถึง “ดวงจันทร์”)
• ภาษาเยอรมัน: Montag; 
• ภาษาดัทช์: maandag ทั้งหมดมีความหมายว่า “Moon-day” 

วันอังคาร (Tuesday)
เป็นชื่อเทพเจ้า Tyr ของชาวนอรเวโบราณ (The Norse god Tyr) ส่วนชาวโรมัน เรียกเป็นชื่อสำหรับเทพเจ้าสงคราม แห่งดาวอังคาร (the war-god Mars) ว่า “dies Martis”
• ภาษาฝรั่งเศส: mardi;
• ภาษาอิตาเลี่ยน: martedi;
• ภาษาสเปน: martes
• ภาษาเยอรมัน: Diensdag;
• ภาษาดัทช์: dinsdag;
• ภาษาสวีเดน: tisdag

วันพุธ (Wednesday)
เป็นวันที่ตั้งเป็นเกียรติสำหรับ เทพเจ้า Odin ของชาวสวีเดน และนอรเวโบราณ ส่วนชาวโรมันเรียกว่า “dies Mercurii” สำหรับใช้เรียกเทพเจ้า Mercury (ประจำดาวพุธ)

• ภาษาฝรั่งเศส: mercredi; 
• ภาษาอิตาเลี่ยน: mercoledi; 
• ภาษาสเปน: miercoles
• ภาษาเยอรมัน: Mittwoch; 
• ภาษาดัทช์: woensdag

วันพฤหัสบดี (Thursday)
เป็นชื่อเทพเจ้า Thor ของชาวนอรเวโบราณ (The Norse god Thor) เรียกว่า “Torsdag” ส่วนชาวโรมัน เรียกเป็นชื่อสำหรับเทพเจ้า Jove หรือ Jupiter ซึ่งเป็นเทพเจ้า แห่งเทพทั้งปวง และเรียกวันนี้ว่า “dies Jovis” หมายถึง วันของ Jove (Jove’s Day)

• ภาษาฝรั่งเศส: jeudi; 
• ภาษาอิตาเลี่ยน: giovedi; 
• ภาษาสเปน: el jueves
• ภาษาเยอรมัน: Donnerstag; 
• ภาษาดัทช์: donderdag ทั้งหมดมีความหมายว่า “วันสายฟ้า” (Thundar day)

วันศุกร์ (Friday)
เป็นชื่อเทพธิดา Frigg ของชาวนอรเวโบราณ (The Norse goddess Frigg) ภาษาเยอรมันเคยเรียกว่า “frigedag” ส่วนชาวโรมัน เรียกเป็นชื่อสำหรับเทพธิดา Venus ว่า “dies veneris”

• ภาษาฝรั่งเศส: vendredi; 
• ภาษาอิตาเลี่ยน: venerdi; 
• ภาษาสเปน: viernes
• ภาษาเยอรมัน: Freitag; 
• ภาษาดัทช์: vrijdag

วันเสาร์ (Saturday)
ชาวโรมันใช้เรียกเป็นชื่อสำหรับเทพเจ้า Saturn ว่า “dies Saturni” หมายถึง Saturn’s Day.

• ภาษาฝรั่งเศส: samedi;
• ภาษาอิตาเลี่ยน: sabato;
• ภาษาสเปน: el sabado
• ภาษาเยอรมัน: Samstag;
• ภาษาดัทช์: zaterdag;
• ภาษาสวีเดน: Lordag
• ภาษาเดนมาร์คและนอรเว: Lordag หมายถึง “วันชำระล้าง” (Washing day)

ที่มา
http://en.wikipedia.org/wiki/days_of_the_week
http://www.walkinthelight.ca/History%20of%20the%20Calendar.htm
http://www.hermetic.ch/cal_stud/hlwc/why_seven.htm
http://www.pantheon.org/miscellaneous/origin_days.html
http://www.skeptics.com.au/journal/1995/1_calendar.htm
http://www.users.globalnet.co.uk/~loxias/week.htm
http://web1.dara.ac.th/daraspace/Mythology/DayMonthName.htm
http://www.renaissanceastrology.com/planetaryhoursarticle.html

*******************************
เขียนโดย Phainon
เมื่อ กันยายน 2549
ลงใน http://www.horauranian.com
*******************************