โดย อ.กามล แสงวงศ์
เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2558
วันนี้ลูกค้าสาวโทรมาดูดวงด้วย ผมก็ทายตั้งแต่พื้นดวงไปจนถึงเหตุการปัจจุบันตามปกติ หลังจากทายเสร็จ เธอก็บอกว่า เมื่อ4-5เดือนที่แล้ว เธอเคยโทรมาดูดวงแล้ว
อ้าว! เคยดูแล้วก็ไม่บอก เลยเสียเวลากับการอ่านพื้นดวง ซึ่งปกติถ้าเคยดูกันแล้ว ผมก็จะข้ามพื้นดวงมาทำนายเหตุการปัจจุบันเลย ก็เลยถามเธอว่า คำทำนายอันเก่ากับคำทำนายอันใหม่ อันไหนถูกต้องกว่ากัน เธอก็บอกว่าทายตรงกัน… แล้วไป
เธอบอกว่าที่เธอโทรมาครั้งนี้เพราะอยากรู้เรื่องงาน เพราะที่ใหม่ตกลงจะรับเธอ แต่พอที่เก่าทราบ ก็อยากให้เธออยู่โดยจะเลื่อนตำแหน่งให้เป็นผู้จัดการเพิ่มเงินอีก 2-3 พันบาท คราวนี้เธอจึงสับสนว่าจะเอาอย่างไรดี
ในดวงของเธอมีไพ่ 5 ไม้เท้าแห่งความสับสนขัดแย้งอยู่ตรงตำแหน่งจุดอ่อน จึงแปลได้ว่า เธอมีจุดอ่อนมาจากความสับสนขัดแย้ง
ปกติแล้ว ไพ่ไม้เท้านี้มักจะถูกแปลเป็นอุปสรรค ติดขัด ขัดแย้ง ด้วน ๆ แค่นี้ แต่ถ้าเราฝึกจินตนาการเพิ่มเข้าไปอีกสักหน่อย มันก็ยังมีความหมายแบบอื่นอีกได้ว่า ความสับสน ความวุ่นวาย อึกทึก การทะเลาะเบาะแว้ง จราจล สถานการณ์ที่มีความอ่อนไหว ความแตกแยก การแบ่งพรรคแบ่งพวก
แต่สำหรับเธอมันคือความสับสนขัดแย้ง จึงทำให้เธอตัดสินใจไม่ได้ ว่าระหว่าง ที่ใหม่ที่ชื่อเสียงและความมั่นคงน้อยกว่าแต่ท้าทาย มีโอกาสกระโดดข้ามขั้นไปได้ไว กับ ที่เก่าที่มีชื่อเสียงดี สวัสดิการดี แต่เติบโตช้า
เธอควรจะเอาอะไร?
ผมบอกเธอว่าถ้าโดยการทำนายก็ทายว่าเธอจะไป แต่ถ้าให้คำแนะนำก็บอกเธอว่า ชีวิตเธอมันต้องลำบากอยู่แล้วไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ต้องลำบาก เพราะเธอต้องเจอกับความแตกแยก ความขัดแย้ง ตามความหมายของไพ่ 5 ไม้เท้าไปตลอดชีวิต ดังนั้นจะอยู่หรือไปก็มีค่าเท่ากัน
ถ้าชีวิตยังไม่พัฒนา ตัวเราก็จะเป็นผู้ก่อเหตุหรือรับเคราะห์ แต่ถ้าเราพัฒนาแล้ว ตัวเราก็เป็นแค่ผู้เห็นเหตุการณ์อย่างปลอดภัย
แล้วเราจะพัฒนาอย่างไร?
เราจะต้องพัฒนาทางด้านการสื่อสารครับ ความสับสนเข้าใจผิดต้องแก้ด้วยการสื่อสารที่ถูกต้อง การสื่อสารประกอบด้วยคำพูด น้ำเสียง ภาษากาย ซึ่งต้องพยายามให้เขาเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการอย่างชัดเจน อย่างมีความสุข และคนสำคัญที่เราควรสื่อสารด้วยมากที่สุดคือตัวเอง
ไพ่ความสับสนจะทำให้เราตัดสินใจผิดพลาด เมื่อผิดพลาดก็จะโทษตัวเอง เมื่อโทษตัวเองบ่อยๆก็จะกลายเป็นการสาปแช่งตัวเอง การสาปแช่งตัวเองมากขึ้น ๆ เราก็จะเชื่อว่าเราเป็นคนผิดพลาด อ่อนด้อย ไร้ค่า โชคร้ายจริง ๆ แล้วชีวิตเราก็จะได้อย่างนั้น จึงควรจะปลอบใจตัวเองและให้อภัยตัวเองเมื่อมีความผิดพลาด
ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับชีวิต ล้วนเป็นประสบการณ์ ที่ทำให้เราเก่งขึ้น มันเป็นเครื่องมือที่เตรียมไว้ให้เราเอาไว้ใช้แก้ปัญหาในอนาคต ดังนั้น ทุกความผิดพลาดจึงเป็นแค่การรับประสบการณ์ใหม่ ๆ ไม่ใช่ความเสียหายร้ายแรงอย่างที่เราตีโพยตีพาย เมื่อผิดก็แก้ไขให้มันดีขึ้น ก็เท่านั้นเอง