โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
14 สิงหาคม 2559
หากถามว่า คาถาใดบ้างที่นิยมสวดกันมากที่สุดในประเทศไทย คาถาชินบัญชรย่อมอยู่ในอันดับต้นๆอย่างแน่นอน คาถานี้ว่ากันว่า เป็นของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) วัดระฆังโฆสิตาราม พระมหาเถระผู้มีชีวิตในยุค ๕ แผ่นดินแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย อาจด้วยเหตุที่เล่าลือกันว่า คาถานี้จะช่วยคุ้มครองให้ผู้สวดปลอดภัยจากภยันตรายใดๆทั้งปวง เพราะเนื้อความในคาถาเป็นการอัญเชิญพระอรหันตเถระมาสถิตยังอวัยวะต่างๆของร่างกายและอัญเชิญพระปริตรทั้งหลายมาปกป้องรอบทิศ อย่างไรก็ตาม คาถานี้ มีประวัติความเป็นมาอย่างไร กลับมีผู้ทราบไม่มากนัก
จากหนังสือ ประวัติคาถาชินบัญชร เรียบเรียงโดย สุเชาวน์ พลอยชุม จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๒๙ (ต่อมาได้แก้ไขปรับปรุงและจัดพิมพ์อีกหลายครั้ง โดยฉบับที่อ้างอิงในบทความนี้คือ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๕ เมื่อปี ๒๕๔๓) ได้รวบรวมที่มาที่ไปของคาถานี้โดยละเอียด แม้ว่ายังไม่ได้หลักฐานข้อสรุปที่แน่นอน แต่พอเห็นภาพที่ชัดเจน จึงขอนำมาเล่าโดยสรุปดังนี้
คาถานี้เป็นที่แพร่หลาย ไม่เฉพาะในไทย แต่ยังแพร่หลายในพม่า และศรีลังกาอีกด้วย ในพม่าเรียกกันว่า “รตนาชวยใช่” แปลว่า กรงทองแห่งพระรัตนตรัย มีคาถา ๑๔ บท ส่วนในศรีลังกา มีการจัดพิมพ์อยู่ในหนังสือ The Mirror of the Dhamma (กระจกธรรม) ซึ่งพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ ของศรีลังกา (ตรงกับ พ.ศ.๒๕๐๓ ของไทย) เรียกว่า ชินบัญชร เช่นกัน แต่มีทั้งหมดคาถา ๒๒ บท โดย ๑๔ บทแรกตรงกับของไทยและพม่า (จำนวนบทตรงกัน แต่มีข้อแตกต่างในรายละเอียด)
คาถาชินบัญชรนี้ เจ้าประคุณสมเด็จฯโต ไม่ได้เป็นผู้รจนาขึ้นใหม่ทั้งหมด แต่นำเอาคาถาที่มีมาแต่เดิมมาปรับปรุงแก้ไข ตัวคาถาเดิมนั้นเป็นที่แพร่หลายในหมู่ประชาชนทางเมืองเหนือมาแต่โบราณ รู้จักกันในนามว่า “สูตรเชยยเบงชร” หรือออกเสียงตามสำเนียงพื้นเมืองว่า “ไจยะเบงจร” มีการจดจารึกด้วยอักษรล้านนา ฉบับเก่าแก่ที่สุดที่สำรวจพบตอนนี้คือ ฉบับของวัดชัยมงคลเวียงใต้ จังหวัดน่าน เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๔ แต่คาถานี้เกิดมาก่อนหน้านั้น ไม่น้อยกว่า ๔๐๐ ปีมาแล้ว คุณสุเชาวน์ พลอยชุม สันนิษฐานว่า น่าจะแต่งขึ้นที่เมืองเชียงใหม่ อย่างช้าไม่เกินสมัยพระเจ้าติโลกราชมหาราช อย่างเร็วไม่เกินสมัยพระเจ้าอโนรธา นั่นคือ คาถานี้น่าจะแต่งขึ้น ระหว่าง พ.ศ. ๑๙๘๒-๒๑๕๐ และคงแต่งโดย พระเถระชาวล้านนาซึ่งไม่ปรากฏชื่อแน่ชัด เมื่อเป็นที่นิยมในล้านนา ก็ได้แพร่หลายไปในพม่าและศรีลังกา ต่อมา เจ้าประคุณสมเด็จฯ โต ได้นำมาปรับปรุงแก้ไขพร้อมเรียกชื่อเสียใหม่ว่า “ชินบัญชร” จนเป็นที่นิยมในไทย
ชาวเมืองเหนือมีความศรัทธาเชื่อถือในคาถานี้อย่างกว้างขวาง ใช้ในพิธีกรรมสำคัญต่างๆ เช่น สวดสืบชาตา ขึ้นบ้านใหม่ ขึ้นธาตุ ขึ้นถ้ำ สวดขอฝน นอกจากนี้ ยังนิยมเอาบางตอนของคาถานี้ (คือคาถาที่ ๑๐, ๑๑, ๑๒) มาเขียนย่อเป็นยันต์ลงในแผ่นกระดาษหรือแผ่นผ้าขนาดสี่เหลี่ยมสำหรับติดที่ปลายเสาดั้งของบ้านเรือน โบสถ์ วิหาร เพื่อป้องกันฟ้าผ่า ไฟไหม้ เรียกว่า “ยันต์เทียนหัวเสา” บ้าง “ยันต์เสาดั้ง” บ้าง “ยันต์ฟ้าฟิก” บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทว่า “ระตะนัง ปุระโต อาสิ” ของคาถาชินบัญชรนั้นถือกันว่าเป็นหัวใจของคาถาชินบัญชร ถือกันในทางไสยศาสตร์ว่าขลังนัก เรียกกันว่า “คาถาตาลเหี้ยน” เพราะอยู่ยงคงกระพันถึงขนาดยิงจนยอดตาลเหี้ยนก็ไม่เป็นอันตราย
เนื่องจาก คาถาชินบัญชร ฉบับวัดระฆังโฆสิตาราม เป็นที่แพร่หลายในเมืองไทยมากอยู่แล้ว ผมขอนำคาถาชินบัญชร ฉบับปรับปรุงแก้ไขโดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ วัดบวรนิเวศวิหาร จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาลง ณ ที่นี้ (โดยพิมพ์เป็นตัวอ่านแบบไทยเพื่อความสะดวกในการสวด) เพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย
คาถาชินบัญชร ฉบับปรับปรุงโดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ
ก่อนสวด ให้ตั้ง นะโมฯ ๓ จบ
๑.ชะยาสะนะคะตาพุทธา เชตะวามารังสวาหินิง
จะตุสัจจามะตะระสัง เยปิวิงสุนะราสะภา
๒. ตัณหังกะราทะโยพุทธา อัฏฐะวีสะตินายะกา
สัพเพปะติฏฐิตามัยหัง มัตถะเกเตมุนิสสะรา
๓. สิเรปะติฏฐิโตพุทโธ ธัมโมจะมะมะโลจะเน
สังโฆปะติฏฐิโตมัยหัง อุเรสัพพะคุณากะโร
๔. หะทะเยเมอะนุรุทโธ สารีปุตโตจะทักขิเณ
โกณฑัญโญปิฏฐิภาคัสมิง โมคคัลลาโนสิวามะเก
๕. ทักขิเณสะวะเนมัยหัง อาสุงอานันทะราหุลา
กัสสะโปจะมะหานาโม อุโภสุงวามะโสตะเก
๖. เกสันเตปิฏฐิภาคัสมิง สุริโยวะปะภังกะโร
นิสินโนสิริสัมปันโน โสภิโตมุนิปุงคะโว
๗. กุมาระกัสสะโปเถโร มะเหสีจิตตะวาทะโก
โสมัยหังวะทะเนนิจจัง ปะติฏฐาติคุณากะโร
๘. ปุณโณอังคุลิมาโลจะ อุปาลีนันทะสีวะลี
เถราปัญจะอิเมชาตา นะลาเฏติละกามะมะ
๙. เสสาสีติมะหาเถรา วิชิตาชินะสาวะกา
ชะลันตาสีละเตเชนะ อังคะมังเคสุสัณฐิตา
๑๐. ระตะนังปุระโตอาสิ ทักขิเณเมตตะสุตตะกัง
ธะชัคคังปัจฉะโตอาสิ วาเมอังคุลิมาละกัง
๑๑. ขันโธโมระปะริตตัญจะ อาฏานาฏิยะสุตตะกัง
อากาสัจฉะทะนังอาสิ เสสาปาการะสัญญิตา
๑๒. ชินาณาขะละสังยุตเต ธัมมะปาการะลังกะเต
วะสะโตเมจะตุกิจเจนะ สะทาสัมพุทธะปัญชะเร
๑๓. วาตะปิตตาทิสัญชาตา พาหิรัชฌัตตุปัททะวา
อะเสสาวินะยังยันตุ อนันตะชินะเตชะสา
๑๔. ชินะปัญชะระมัชฌัฏฐัง วิหะรันตังมะหีตะเล
สะทาปาเลนตุมังสัพเพ เตมะหาปุริสาสะภา
อิจเจวะมัจจันตะกะโตสุรักโข
ชินานุภาเวนะชิตุปัททะโว
ธัมมนานุภาเวนะชิตาริสังโค
สังฆานุภาเวนะชิตันตะราโย
สัทธัมมานุภาวะปาลิโต จะรามิ ชินะปัญชะเร.
คำแปลคาถาชินบัญชร
๑. พระพุทธะทั้งหลายทรงชนะมารพร้อมทั้งเสนาพาหนะเสด็จสู่พระที่นั่งแห่งชัยชนะแล้ว พระพุทธะเหล่าใดเล่าทรงเป็นผู้ประเสริฐแห่งนรชน ทรงดื่มอมตรสแห่งสัจจะทั้ง ๔ แล้ว
๒. พระพุทธะทั้งหลาย ๒๘ พระองค์ มีพระตัณหังกร เป็นต้น ทรงเป็นพระนายกผู้นำโลก พระมุเนศวรจอมมุนี ทุกพระองค์นั้น ทรงสถิตประทับบนกระหม่อมแห่งข้าพระเจ้า
๓. พระพุทธะทั้งหลายทรงสถิตประทับบนศีรษะ พระธรรมสถิตประทับที่ดวงตาของข้าพระเจ้า พระสงฆ์ผู้เป็นบ่อเกิดแห่งคุณทั้งปวงสถิตประทับที่อุระของข้าพระเจ้า
๔. พระอนุรุทธะประทับที่หทัย พระสารีบุตรประทับที่เบื้องขวา พระโกณฑัญญะประทับที่เบื้องหลัง พระโมคคัลลานะประทับที่เบื้องซ้าย
๕. พระอานนท์และพระราหุลประทับที่หูเบื้องขวาของข้าพระเจ้า พระกัสสปะและพระมหานามทั้ง ๒ ประทับที่หูเบื้องซ้าย
๖. พระโสภิตผู้เป็นมุนีที่แกล้วกล้า ถึงพร้อมด้วยสิริเหมือนอย่างดวงอาทิตย์ส่องแสงสว่าง ประทับที่สุดผมส่วนเบื้องหลัง
๗. พระเถระผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ผู้มีวาทะอันวิจิตรชื่อพระกุมาระกัสสปะ ผู้เป็นบ่อเกิดแห่งคุณนั้น ประทับที่ปากของข้าพระเจ้าเป็นนิตย์
๘. พระเถระ ๕ พระองค์เหล่านี้ คือ พระปุณณะ พระอังคุลิมาล พระอุบาลี พระนันทะ พระสีวลี เกิดเหมือนอย่างดิลก (รอยเจิม) ที่หน้าผากของข้าพระเจ้า
๙. พระมหาเถระทั้งหลาย ๘๐ ที่เหลือจากนี้ ผู้ชนะ ผู้เป็นสาวกของพระพุทธะผู้ทรงชนะ รุ่งเรืองอยู่ด้วยเดชแห่งศีลสถิตอยู่ที่อังคาพยพทั้งหลาย
๑๐. พระรตนสูตรประจุอยู่เบื้องหน้า พระเมตตสูตร ประจุอยู่เบื้องขวา พระธชัคคสูตรประจุอยู่เบื้องหลัง พระอังคุลิมาลสูตรประจุอยู่เบื้องซ้าย
๑๑. พระขันธปริตร พระโมรปริตร และพระอาฏานาฏิยสูตร เป็นเหมือนอย่างฟ้าครอบ พระสูตรปริตรทั้งหลายที่เหลือกำหนดหมายเป็นปราการ
๑๒. เมื่อข้าพระเจ้าอาศัยอยู่ด้วยกิจทั้ง ๔ อย่าง ในบัญชรแห่งพระสัมพุทธะ ประกอบด้วยลานเขตแห่งอาณาอำนาจแห่งพระพุทธะผู้ทรงชนะ ประดับด้วยปราการ คือ พระธรรม ทุกเมื่อ
๑๓. ขออุปัทวะ (เครื่องขัดข้อง) ทั้งภายนอกทั้งภายในทั้งหลาย ที่เกิดจากลมและน้ำดีเป็นต้น จงถึงความสิ้นไป ไม่มีเหลือด้วยเดชแห่งพระชินะผู้ไม่มีที่สุด
๑๔. ขอพระมหาบุรุษผู้เลิศกล้าทั้งหลายทั้งปวงนั้น โปรดอภิบาลข้าพระเจ้าผู้สถิตในท่ามกลางแห่งพระชินบัญชรอยู่บนพื้นแผ่นดินทุกเมื่อ
ข้าพระเจ้ามีความรักษาดี โดยทำให้ครบถ้วนทุกทางอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้ ขอจงชนะอุปัทวะด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธะผู้ทรงชนะ ชนะข้าศึกขัดข้องด้วยอานุภาพแห่งพระธรรม ชนะอันตรายด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์ อันอานุภาพแห่งพระสัทธรรมอภิบาล ประพฤติอยู่ในพระชินบัญชร เทอญ.