จะต้อนรับวันเกิดของตัวเองอย่างไรจึงสอดคล้องกับโหราศาสตร์และธรรมะ

โดย Pallas (pallas@horauranian.com)
21 กุมภาพันธ์ 2550

ในทางโหราศาสตร์สากล (รวมถึงยูเรเนียนด้วย) เมื่อต้องการพยากรณ์เหตุการณ์ประจำปีของเจ้าชะตา จะมีวิธีการอยู่หลายวิธี เช่น ดูโค้งสุริยยาตร์ (Solar Arc), ดวงเหมายันต์สงกรานต์ (Capricorn Ingress) แต่มีวิธีการหนึ่งซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นดวงประจำปีเฉพาะตัวของเจ้าชะตา นั่นคือ ดวงทินวรรษ (Solar Return)

solar-return

ดวงทินวรรษนั้น คือดวงชะตาที่ผูกขึ้นจากเวลาที่อาทิตย์โคจรกลับมาอยู่จุดเดิมของแต่ละปี โดยจะส่งผลต่อเจ้าชะตาระหว่างวันเกิดปีนั้นจนถึงวันเกิดปีถัดไป วิธีการคำนวณนั้นจะมาจากการคำนวณย้อนกลับเพื่อหาเวลาที่อาิทิตย์มาสถิต ณ ราศี องศา และลิปดาเดียวกับอาทิตย์ในดวงกำเนิด และนำเวลามาผูกดวงชะตา ณ เวลานั้นของปีปัจจุบัน ซึ่งนักโหราศาสตร์สามารถคำนวณได้อยู่แล้ว แต่คนทั่วไปก็สามารถสอบถามโหรของท่านเพื่อคำนวณดวงทินวรรษในแต่ละปีให้ท่านก็ได้

อาจารย์วิโรจน์ กรดนิยมชัย เคยสอนผมในห้องเรียนโหราศาสตร์ว่า ดวงทินวรรษนอกจากจะใช้พยากรณ์เหตุการณ์ประจำปีแล้ว ยังช่วยให้เจ้าชะตาทำบุญวันเกิดได้ตรงวันด้วย เพราะความที่เราคำนวณเวลาที่อาทิตย์โคจรมาอยู่จุดเดิมเป็นสำคัญ ไม่ใช่วันเกิดตามสุริยคติที่เราจำกันมา เวลาจากดวงทินวรรษจึงน่าจะเป็นเวลาที่เหมาะสมกว่าในการฉลองวันเกิด เพราะเป็นเวลาของดวงดาว ไม่ใช่เวลาที่มนุษย์สมมติขึ้น

จากหลักดังกล่าว ทำให้ผมคิดว่า การต้อนรับวันเกิดของเราน่าจะทำอะไรที่เป็นกุศลกรรมตามหลักชาวพุทธ เพื่อให้ชีวิตในปีถัดไปจะได้เจอแต่สิ่งที่ดี และตัวเราเองจะได้มีสติที่จะดำเนินชีวิตอีกด้วย คิดไปคิดมา ผมคิดว่าน่าจะสวดมนต์และนั่งสมาธิในเวลาที่คำนวณจากดวงทินวรรษจะดีที่สุด เพราะสะดวกและไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย ที่สำคัญการสร้างกุศลด้วยการสวดมนต์และนั่งสมาธิย่อมได้บุญที่ประณีตกว่าการให้ทานทั่วไป ดังนั้น วันเกิดในปีที่ผ่านมาของผม ผมจึงลางานครึ่งวันเช้า (ดวงทินวรรษของผมอยู่ในช่วงเช้า) เพื่อสวดมนต์และนั่งสมาธิก่อนที่จะมาทำงานตามปกติในช่วงบ่าย

ต่อมา ผมได้อ่านหนังสือ “A Time for Magick” ซึ่งเป็นตำราโหราศาสตร์ที่แต่งโดย Maria Kay Simms โหราจารย์ชาวสหรัฐอเมริกา มีบทหนึ่งกล่าวถึง พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับดวงดาว ตอนหนึ่งพูดถึงการบูชาพระอาทิตย์ และแนะนำให้บูชาในเวลาของดวงทินวรรษ โดยให้คาถาหรือมนต์บูชาพระอาทิตย์เป็นภาษาอังกฤษอีกด้วย หลังจากอ่านแล้ว รู้สึกประทับใจ แต่ด้วยความเป็นชาวพุทธจึงไม่คิดจะนับถือบูชาที่พึ่งอื่นใดนอกจากพระรัตนตรัย จึงพยายามคิดว่าจะนำมาประยุกต์ใช้อย่างไรดี จึงค้นคว้าเพิ่มเติมจากหนังสือสวดมนต์หลายฉบับพร้อมทั้งตำรามนต์พิธีบูชานพเคราะห์ แล้วก็พบบทสวดมนต์ชื่อ “โมรปริตต์” เป็นคำตอบ

โมรปริตต์ หรือพรหมมนต์ เป็นบทสวดมนต์ว่าด้วยพระโพธิสัตว์เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นนกยูง ทรงจัดการอารักขาด้วยมนต์นี้ทำให้นายพรานผู้แม้พยายามอยู่เป็นเวลานานก็ไม่สามารถจะจับพระองค์ได้ มนต์บทนี้เป็นการกล่าวนมัสการพระอาทิตย์และสมณพราหมณ์ผู้รู้ในพระธรรมทั้งปวงขอให้มาคุ้มครอง ทั้งเมื่อเวลาอาทิตย์ขึ้นจะไปหากิน และเวลาอาทิตย์ตกที่จะพักอยู่ในรัง การสวดมนต์บทนี้ในวันเวลาทินวรรษน่าจะเป็นการสร้างมงคลสำหรับปีนั้นได้อย่างดี โดยวิธีการสวดอาจสวดตามกำลังของพระอาทิตย์ คือ 6 จบก็น่าจะเหมาะสม

ผมจึงขอคัดบทสวดมนต์บทนี้พร้อมคำแปล จากหนังสือ “สวดมนต์แปล ฉบับพระศาสนโสภน” ของมหามกุฏราชวิทยาลัย ดังนี้ครับ

เริ่มโมรปริตร

ปูเรนฺตมฺโพธิสมฺภาเร นิพฺพตฺตํ โมรโยนิยํ,

เยน สํวิหิตารกฺขํ มหาสตฺตํ วเนจรา.

จิรสฺสํ วายมนฺตาปิ เนว สกฺขึสุ คณฺหิตุ ํ,

พฺรหฺมมนฺตนฺติ อกฺขาตํ ปริตฺตนฺตมฺภณาม เห.

คำแปล

พวกพรานไพร แม้พยายามอยู่ช้านานไม่อาจนั่นเทียว เพื่อจะจับมหาสัตว์ ผู้บังเกิดแล้วในกำเนิดแห่งนกยูง ผู้ยังโพธิสมภารให้บริบูรณ์อยู่ มีความรักษาอันตนจัดแจงดีแล้ว ด้วยพระปริตรอันใด เราทั้งหลาย จงสวดปริตรอันนั้นที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า พรหมมนตร์ เทอญ.

โมรปริตร

อุเทตยญฺจกฺขุมา เอกราชา,

หริสฺสวณฺโณ ปฐวิปฺปภาโส.

ตํ ตํ นมสฺสามิ หริสฺสวณฺณํ ปฐวิปฺปภาสํ,

ตยชฺช คุตฺตา วิหเรมุ ทิวสํ.

เย พรฺาหฺมณา เวทคุ สพฺพธมฺเม,

เต เม นโม เต จ มํ ปาลยนฺตุ.

นมตฺถุ พุทฺธานํ นมตฺถุ โพธิยา,

นโม วิมุตฺตานํ นโม วิมุตฺติยา.

อิมํ โส ปริตฺตํ กตฺวา โมโร จรติ เอสนา.

อเปตยญฺจกฺขุมา เอกราชา

หริสฺสวณฺโณ ปฐวิปฺปภาโส.

ตํ ตํ นมสฺสามิ หรีสฺสวณฺณํ ปฐวิปฺปภาสํ,

ตยชฺช คุตฺตา วิหเรมุ รตฺตึ.

เย พฺรหฺมณา เวทคุ สพฺพธมฺเม,

เต เม นโม เต จ มํ ปาลยนฺตุ.

นมตฺถุ พุทฺธานํ นมตฺถุ โพธิยา,

นโม วิมุตฺตานํ นโม วิมุตฺติยา.

อิมํ โส ปริตฺตํ กตฺวา โมโร วาสมกปฺปยีติ.

คำแปล

พระอาทิตย์ เป็นดวงตาของโลก เป็นเอกราช มีสีเพียงดังสีแห่งทอง ยังพื้นปฐพีให้สว่างอุทัยขึ้นมา

เพราะเหตุนั้น ข้าขอนอบน้อมพระอาทิตย์นั้น ซึ่งมีสีเพียงดังสีแห่งทอง ยังพื้นปฐพีให้สว่าง

ข้าทั้งหลาย อันท่านปกครองแล้วในวันนี้ พึงอยู่เป็นสุขตลอดวัน

พราหมณ์ทั้งหลายเหล่าใด ผู้ถึงซึ่งเวทในธรรมทั้งปวง

พราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น จงรับความนอบน้อมของข้า อนึ่ง พราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น จงรักษาซึ่งข้า

ความนอบน้อมของข้า จงมีแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ความนอบน้อมของข้า จงมีแด่พระโพธิญาณ

ความนอบน้อมของข้า จงมีแด่ท่านผู้พ้นแล้วทั้งหลาย ความนอบน้อมของข้า จงมีแด่วิมุตติธรรม

นกยูงนั้นได้กระทำปริตรอันนี้แล้ว จึงเที่ยวไปเพื่ออันแสวงหาอาหาร.

พระอาทิตย์นี้ เป็นดวงตาของโลก เป็นเอกราช มีสีเพียงดังสีแห่งทอง ย่อมอัสดงคตไป

เพราะเหตุนั้น ข้าขอนอบน้อมพระอาทิตย์นั้น ซึ่งมีสีเพียงดังสีแห่งทอง ยังพื้นปฐพีให้สว่าง

ข้าทั้งหลาย อันท่านปกครองแล้วในวันนี้ พึงอยู่เป็นสุขตลอดคืน

พราหมณ์ทั้งหลายเหล่าใด ผู้ถึงซึ่งเวทในธรรมทั้งปวง

พราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น จงรับความนอบน้อมของข้า อนึ่ง พราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น จงรักษาซึ่งข้า

ความนอบน้อมของข้า จงมีแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ความนอบน้อมของข้า จงมีแด่พระโพธิญาณ

ความนอบน้อมของข้า จงมีแด่ท่านผู้พ้นแล้วทั้งหลาย ความนอบน้อมของข้า จงมีแด่วิมุตติธรรม

นกยูงนั้นได้กระทำปริตรอันนี้แล้ว จึงสำเร็จความอยู่แล.

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s