ราศีอะไรกันแน่

ราศีอะไรกันแน่

โดย พัลลาส
pallas@horauranian.com
กันยายน 2555

          คำถามที่ผมมักเจอเสมอเวลาคุยกับผู้คนเกี่ยวกับเรื่องโหราศาสตร์ นั่นคือ ผม/ดิฉันเกิดราศีอะไรกันแน่? ทำไมนิตยสารเล่มนี้บอกว่าเกิดราศีเมษ แต่อีกเล่มบอกว่าเป็นราศีพฤษภ? ทำไมอาจารย์คนนี้บอกว่าตัดแบ่งราศีที่วันที่ 15 แต่อาจารย์อีกท่านบอกว่าตัดราศีตรงวันที่ 21?

เคสโทรศัพท์จักรราศี
ราศีอะไรกันแน่

โดยปกติแล้ว ก่อนที่จะตอบคำถามเหล่านี้ ผมต้องประเมินสถานการณ์ก่อนว่า ผู้ถามพร้อมที่จะฟังคำตอบยาวๆ หรือคำตอบสั้นๆ เพราะถ้าจะตอบให้เข้าใจก็ต้องอธิบายกันพอสมควร แต่ส่วนใหญ่มักไม่ค่อยมีเวลาฟังกัน ผมจึงมักตอบสั้นๆไปว่า ให้เชื่อตามนักพยากรณ์คนที่เราไปหาบอก เช่น หากเราอ่านคอลัมน์ดวงประจำเดือนในนิตยสารซักเล่ม ก็ให้ดูว่าคอลัมน์นั้นระบุว่าราศีนี้ตรงกับผู้ที่เกิดระหว่างวันไหนถึงวันไหน และเราก็ใช้ตามไปเลย ไม่ต้องไปคิดมาก เพราะนักพยากรณ์ท่านนั้นก็ออกคำพยากรณ์ตามระบบราศีที่ได้ระบุไว้ ส่วนคำตอบยาวๆนั้น เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจนำโหราศาสตร์ไปใช้ประโยชน์จริงๆ มากกว่าจะอ่านหรือฟังเป็นเรื่องบันเทิงเล่นๆ และที่สำคัญต้องมีเวลาทำความเข้าใจพอสมควร อย่างผู้อ่านคอลัมน์นี้นั่นเอง

ย้อนกลับเมื่อราวสองพันกว่าปีก่อน นักปราชญ์โบราณในดินแดนเมโสโปเตเมีย (หรือตะวันออกกลางในปัจจุบัน) ได้สร้างแบบจำลองดาวเคราะห์บนท้องฟ้าลงมาบนแผ่นจารึก โดยแบ่งท้องฟ้าออกเป็น 12 ส่วน เรียกว่า 12 ราศี เริ่มจากราศีเมษ, พฤษภ, มิถุน, กรกฎ, สิงห์, กันย์, ตุลย์, พิจิก, ธนู, มกร, กุมภ์ และมีน แต่ละราศีมีความกว้างเท่ากับ 30 องศา รวมกัน 12 ราศี ก็เท่ากับ 360 องศา เป็นวงกลมพอดี เรียกว่า ดวงชะตา (Horoscope)

ปัญหาก็คือ แล้วราศีเหล่านี้เริ่มต้นตรงไหนล่ะ? นักปราชญ์ยุคนั้นซึ่งอยู่ในซีกโลกเหนือพบว่า ในแต่ละปี มีวันที่กลางวันกับกลางคืนยาวเท่ากันอยู่ 2 วัน และเป็นจุดเปลี่ยนฤดูกาล วันแรกเป็นวันที่เปลี่ยนจากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ อยู่ราววันที่ 20 มีนาคม และอีกวันหนึ่งเป็นวันที่เปลี่ยนจากฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงอยู่ราววันที่ 21 กันยายน นักปราชญ์จึงตัดสินใจกำหนดให้ตำแหน่งที่ทำให้กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากันในช่วงฤดูใบไม้ผลิ คือจุดเริ่มต้นของราศีเมษ เพราะเป็นเวลาที่พืชพรรณธรรมชาติตื่นจากการหลับใหลจำศีลในฤดูหนาวมาสู่การตื่นตัวในใบไม้ผลิ สอดคล้องกับธรรมชาติของราศีเมษนั่นคือ การเริ่มต้น เมื่อได้จุดเริ่มต้นราศีเมษ ก็สามารถแบ่งออกเป็น 12 ราศี ราศีละ 30 องศา ได้โดยไม่ยากนัก

ในยุคนั้น ตำแหน่งดวงอาทิตย์ ณ จุดเริ่มต้นของราศีเมษดังกล่าว ตรงกับตำแหน่งของกลุ่มดาวฤกษ์ที่ถูกจินตนาการว่าเป็นแกะซึ่งเรียกกันว่า กลุ่มดาวราศีเมษ หากเราใช้จุดเริ่มต้นกลุ่มราศีเมษเป็นจุดตั้งต้นจักรราศี ก็สามารถแบ่งกลุ่มดาวฤกษ์บนท้องฟ้าตามแนวโคจรของดาวเคราะห์ออกเป็น 12 กลุ่มหรือ 12 ราศีได้เช่นกัน ระบบการแบ่งทั้งสองวิธีนี้ในยุคนั้นก็ทาบทับกันพอดี จึงไม่มีความแตกต่างของการแบ่งราศี

อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มฤดูใบไม้ผลิกับจุดเริ่มต้นกลุ่มดาวราศีเมษที่อยู่ที่เดียวกันนี้ ได้มีการขยับห่างออกจากกันทีละน้อย เนื่องจากการโคจรของโลกมีการควงส่ายคล้ายกับลูกข่าง ทำให้วันที่เปลี่ยนฤดูกาลไม่ตรงกับวันที่ดวงอาทิตย์โคจรเข้ากลุ่มดาวราศีเมษ ความแตกต่างนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามเวลาที่ผ่านไปในอัตรา 72 ปีต่อ 1 องศา ทำให้เกิดระบบการแบ่งราศีออกเป็น 2 ระบบ ระบบแรก อ้างอิงตามจุดเปลี่ยนฤดูกาล จึงเริ่มต้นราศีเมษที่ 20 มีนาคม ระบบนี้ได้เผยแพร่ไปทางตะวันตก ได้แก่ กรีก โรมัน ยุโรป ส่วนระบบที่สองที่อ้างอิงกลุ่มดาวฤกษ์เผยแพร่ไปทางตะวันออกมายังอินเดียและเอเชียตะวันออก ปัจจุบันเริ่มต้นราศีเมษราวๆวันที่ 14 เมษายน

จากวิวัฒนาการดังกล่าว โหราศาสตร์ตะวันตก รวมถึงโหราศาสตร์ยูเรเนียน จึงใช้จักรราศีที่อ้างอิงกับฤดูกาล เริ่มต้นราศีเมษที่ 20 มี.ค. การตัดแบ่งราศีแต่ละเดือนจึงตัดที่ราวๆวันที่ 20-22 ส่วนโหราศาสตร์ตะวันออกทั้งอินเดียและไทยนั้นใช้จักรราศีที่อ้างอิงกับกลุ่มดาวฤกษ์ เริ่มต้นราศีเมษที่ 14 เม.ย. จึงตัดแบ่งราศีกันที่ราวๆวันที่ 14-16 ของทุกเดือน

เมื่ออธิบายถึงตอนนี้ หลายคนก็ตั้งคำถามทันทีว่า แล้วระบบไหนแม่นยำกว่าล่ะ? คำตอบก็คือ แม่นยำทั้งสองระบบ จากประสบการณ์ของผม พบว่า ความแม่นยำของคำพยากรณ์ขึ้นอยู่กับฝีมือของนักพยากรณ์ มากกว่าจะมาจากหลักวิชาที่ใช้ ทั้งสองระบบได้มีการพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องตามวิธีการแบ่งราศีที่ต่างกัน ระบบของตะวันตกนั้นอ้างอิงกับฤดูกาล เวลาแปลความหมายของแต่ละราศีก็จะอ้างอิงมาจากธรรมชาติของฤดูกาล เช่น ราศีพิจิก ตรงกับกลางฤดูใบไม้ผลิ ก็ให้ความหมายถึง การเสียสละ ส่วนราศีมกร ตรงกับจุดเริ่มเข้าฤดูหนาว ก็ให้ความหมายเกี่ยวกับ ความอดทน การรอคอย ความหยุดนิ่ง เป็นต้น ส่วนระบบของตะวันออกนั้นอ้างอิงกับกลุ่มดาวฤกษ์ ก็แปลความหมายตามจินตนาการของนักปราชญ์โบราณ เช่น ราศีสิงห์ หมายถึง ผู้นำ, ราศีธนู หมายถึง การมองการณ์ไกล นั่นเอง

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ครั้งต่อไปเวลาเห็นการแบ่งราศีแตกต่างกัน ก็อย่าแปลกใจ ขอให้รับรู้ว่า นักพยากรณ์ท่านนั้นใช้วิชาโหราศาสตร์ที่มีวิธีการแบ่งราศีแตกต่างไป หากแบ่งราศีราวๆวันที่ 20-22 แสดงว่าใช้โหราศาสตร์ตะวันตก แต่หากแบ่งราศีราวๆวันที่ 14-16 แสดงว่าใช้โหราศาสตร์ทางตะวันออก อาจเป็นโหราศาสตร์ไทยหรืออินเดียก็ได้ ดังนั้น สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้ศึกษาโหราศาสตร์ คำตอบสั้นๆสำหรับคำถามว่า ตกลง ผม/ดิฉันเกิดราศีอะไรกันแน่? จึงตอบสั้นๆไปว่า ให้เชื่อตามนักพยากรณ์คนที่เราไปหาบอก นั่นเอง

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s