ชาวพุทธที่แท้ย่อมไม่ไหว้ราหู

โดย พัลลาส
10 ธ.ค. 2555

สองสามวันที่ผ่านมา นั่งอ่านข่าวว่าด้วยพิธีไหว้ราหู นำทีมโดยหมอดูที่มีชื่อเสียงตามสื่อต่างๆ และพิธีกรรมที่จัดโดยวัดที่โน่นที่นี่ อ่านแล้วรู้สึกเศร้าใจกับความงมงายของคนส่วนหนึ่งในสังคมไทย

ในฐานะที่เป็นนักโหราศาสตร์คนหนึ่ง ก็ต้องถือโอกาสเขียนบทความอธิบายความรู้โหราศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวเหล่านี้ โดยแบ่งเป็นประเด็นๆ ดังนี้

eclipse1. ราหู ไม่ใช่ดาวเคราะห์ เป็นเพียงจุดคำนวณทางดาราศาสตร์ หมายถึง จุดตัดระหว่างเส้นทางการโคจรของดวงจันทร์กับเส้นทางโคจรของดวงอาทิตย์ สูตรคำนวณราหูที่แม่นยำจะทำให้คำนวณการเกิดคราสได้อย่างถูกต้อง

2.  โหราศาสตร์ไทย ถือว่า ราหู เป็นปัจจัยที่ให้โทษ กล่าวไว้ว่า “ดูมัวเมาให้ดูราหู” ส่วนโหราศาสตร์สากล ไม่ได้จัดราหูเป็น ปัจจัยที่ให้โทษ แต่แปลว่า ความผูกพัน ความสัมพันธ์ ความใกล้ชิด สำหรับโหราศาสตร์ยูเรเนียนนั้น ให้ความสัมพันธ์ของราหูถึงขั้นเป็นจุดเจ้าชะตา ที่มีความสำคัญไม่แพ้ลัคนา อาทิตย์ จันทร์ และเมอริเดียนเลยทีเดียว เป็นจุดที่ไว้พิจารณาแวดวงความสัมพันธ์ของเจ้าชะตา แม้ว่ามุมมองของทั้งสองศาสตร์อาจดูต่างกัน แต่เมื่อพิจารณาให้ลึกซึ้งแล้วคือสิ่งเดียวกัน นั่นคือ ราหู หมายถึง ความผูกพันใกล้ชิด ซึ่งหากมีมากเกินไปก็กลายเป็นความมัวเมาอย่างที่โหราศาสตร์ไทยว่าไว้

3. การย้ายราศีของราหู จะใช้เวลาราวๆ 18 เดือนต่อหนึ่งราศี (หากคิดหากินกับพิธีกรรมไหว้ราหูย้ายราศี ก็ทำได้ทุกปีครึ่งเลยทีเดียว) และจะใช้เวลาโคจรครบรอบจักรราศี ประมาณ 18 ปีครึ่ง เพราะฉะนั้น หากอยากทราบว่า ราหูปีนี้จะส่งผลอย่างไรกับชีวิต เราก็แค่ถอยไปเมื่อ 18-19 ปีก่อน ก็พิจารณาดูว่าลีลาชีวิตเราเป็นอย่างไร รอบนี้ก็คงเป็นไปทำนองนั้น และเนื่องจากราหูหมายถึงความสัมพันธ์ ก็พิจารณาในประเด็นความสัมพันธ์เป็นหลัก (ความสัมพันธ์ในครอบครัว ความรัก เพื่อนฝูง สังคมของเรา)

4. ที่ตื่นข่าวกันว่า ราหูย้ายเข้าราศีตุลย์ในวันที่ 10 ต.ค. 2555 เวลา 20:24  น. นั้น เป็นไปตามปฏิทินดาวตามคัมภีร์สุริยยาตร์ ซึ่งเป็นคัมภีร์โบราณที่ไทยนำเข้ามาจากอินเดียผ่านทางมอญและพม่า แม้ว่าจะเป็นของโบราณ แต่ต้องยอมรับกันว่า ปฏิทินระบบนี้มีความคลาดเคลื่อนไปจากท้องฟ้าจริงๆ โดยเฉพาะการคำนวณตำแหน่งดวงจันทร์จะคลาดเคลื่อนได้มาก โหรไทยภาคคำนวณต้องนำตำราอื่นมาปรับแก้ตำแหน่งจันทร์ให้ถูกต้อง ปฏิทินได้รับความนิยมจากหมอดูส่วนใหญ่ในประเทศ เพราะซื้อหาได้ง่าย ในขณะเดียวกัน โหราศาสตร์ไทยก็มีปฏิทินดาวตามหลักดาราศาสตร์ ที่คำนวณตรงตามตำแหน่งดาวจริงบนท้องฟ้า ริเริ่มมาตั้งแต่ยุคอาจารย์เทพ สาริกบุตร ต่อมาสมาคมโหรแห่งประเทศไทยฯก็มีการตีพิมพ์ปฏิทินในระบบนี้ แต่น่าเสียดายได้ขาดหายไป หากเราดูจากปฏิทินโหราศาสตร์ไทยระบบดาราศาสตร์ เราจะพบว่า ราหูจะโคจรยกเข้าราศีตุลในวันที่ 24 ธันวาคม 2555 หรือต่างจากข่าวที่ออกมาราว 2 สัปดาห์

5. คำถามตัวโตๆจากผมคือ หากเราเชื่อในพิธีไหว้ราหูแล้ว เราควรไหว้ราหูในวันไหน ระหว่างตามปฏิทินโบราณแต่ไม่ตรงกับตำแหน่งดาวบนฟ้า (10 ธ.ค.55) กับตามปฏิทินดาราศาสตร์ที่ตรงตามตำแหน่งบนท้องฟ้า (24 ธ.ค.55)

6. ที่สนุกมากคือ พิธีไหว้ราหูที่ว่าต้องใช้ของดำ ๘ อย่าง ก็เป็นพิธีที่ประหลาด ไม่ตรงกับตำราโบราณ (เข้าใจว่าสูตรนี้มาจาก นายอรรถวิโรจน์ ศรีตุลา ที่คิดค้นพิธีไหว้แบบนี้ตั้งแต่คราวสุริยคราสเต็มดวงเมื่อปี 2538) เพราะปรมาจารย์โหราศาสตร์ไทยอย่างอาจารย์พลูหลวง ท่านให้ราหูแทนสีเขียวตองอ่อน (ส่วนสีดำหมายถึงดาวเสาร์ต่างหาก) และเวลาไหว้เทวดาประจำนพเคราะห์ ตำราโบราณจะไหว้ตามกำลังของดาว สำหรับราหูนั้น มีกำลังเท่ากับ ๑๒ ซึ่งมาจากตำนานว่าพระอิศวรทรงสร้างพระราหูขึ้นจากผีหัวโขมด ๑๒ หัว เอามาป่น แล้วพรมด้วยน้ำอมฤต ดังนั้น หากจะไหว้ด้วยตำราโบราณ ก็ควรจะไหว้ด้วยของสีเขียวอ่อน ๑๒ อย่างต่างหาก

ที่ว่ามา 6 ประเด็นนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์ จริงๆแล้วมีประเด็นปลีกย่อยอีกหลายประเด็น แต่คิดว่าสำหรับบทความนี้ น่าจะเพียงพอแล้ว อย่างไรก็ตาม ขอกลับมาเขียนประเด็นเกี่ยวกับพุทธศาสนาเป็นการปิดท้าย เพราะเห็นว่า พิธีไหว้ราหูที่ทำเป็นธุรกิจอย่างเป็นล่ำเป็นสันนี้ ก็ทำที่วัดในพุทธศาสนาเกือบทั้งนั้น ทั้งๆที่พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้งมงายกับเรื่องทำนองนี้เลย ลองพิจารณาบทสวดมนต์ “เขมาเขมสรณทีปิกคาถา” แล้วจะรู้ว่า เมื่อมีปัญหาในชีวิต เราควรจะหาที่พึ่งใด ดังนี้

“พะหุง เว สะระณัง ยันติ……………ปัพพะตานิ วะนานิ จะ,

อารามะรุกขะเจต๎ยานิ………………มะนุสสา ภะยะตัชชิตา,

มนุษย์เป็นอันมาก เมื่อเกิดมีภัยคุกคามแล้ว,

ก็ถือเอาภูเขาบ้าง ป่าไม้บ้าง อารามและรุกขเจดีย์บ้าง เป็นสรณะ,

เนตัง โข สะระณัง เขมัง……………เนตัง สะระณะมุตตะมัง,

เนตัง สะระณะมาคัมมะ…………….สัพพะทุกขา ปะมุจจะติ,

นั่น มิใช่สรณะอันเกษมเลย, นั่น มิใช่สรณะอันสูงสุด,

เขาอาศัยสรณะนั่นแล้ว ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้,

โย จะ พุทธัญจะ ธัมมัญจะ………..สังฆัญจะ สะระณัง คะโต,

จัตตาริ อะริยะสัจจานิ………………สัมมัปปัญญายะ ปัสสะติ,

ส่วนผู้ใดถือเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะแล้ว,

เห็นอริยสัจจ์คือความจริงอันประเสริฐ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบ,

ทุกขัง ทุกขะสะมุปปาทัง………….ทุกขัสสะ จะ อะติกกะมัง,

อะริยัญจัฏฐังคิกัง มัคคัง………….ทุกขูปะสะมะคามินัง,

คือเห็นความทุกข์, เหตุให้เกิดทุกข์, ความก้าวล่วงทุกข์เสียได้,

และหนทางมีองค์ ๘ อันประเสริฐ เครื่องถึงความระงับทุกข์,

เอตัง โข สะระณัง เขมัง…………..เอตัง สะระณะมุตตะมัง,

เอตัง สะระณะมาคัมมะ……………สัพพะทุกขา ปะมุจจะติ,

นั่นแหละ เป็นสรณะอันเกษม, นั่น เป็นสรณะอันสูงสุด,

เขาอาศัยสรณะนั่นแล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้.”

และสำหรับชาวพุทธหลายคนที่ปากกล่าวว่าเป็นชาวพุทธ หลายคนอาจสวดมนต์บ่อยๆ แต่ไม่ทำตามบทสวดมนต์ที่ตนเองสวดไว้ กลับไปกราบไหว้บูชาเทวดาหรือสิ่งต่างๆ  พูดได้ว่า ไม่มีศรัทธาจริงๆต่อพุทธศาสนา ผมอยากนำบทสวดทำวัตรเย็นบางตอนพร้อมคำแปล เพื่อให้เราพิจารณาว่า เมื่อเราสวดมนต์และให้สัจจะกับพระรัตนตรัยแล้วว่า จะไม่มีที่พึ่งอื่นใดนอกจากพระรัตนตรัย เราก็สมควรถือสัจจะเช่นนั้นจริงๆ แล้วความศักดิ์สิทธิ์ของบทสวดมนต์จึงจะเกิดขึ้น

“…นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง พุทโธ เม สะระณัง วะรัง,
สรณะอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระพุทธเจ้าเป็นสรณะอันประเสริฐของข้าพเจ้า
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ วัฑเฒยยัง สัตถุสาสะเน,
ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอข้าพเจ้าพึงเจริญในพระศาสนาของพระศาสดา
พุทธัง เม วันทะมาเนนะ*(นายะ) ยัง ปุญญัง ปะสุตัง อิธะ,
ข้าพเจ้าผู้ไหว้อยู่ซึ่งพระพุทธเจ้า ได้ขวนขวายบุญใด ในบัดนี้
สัพเพปิ อันตะรายา เม มาเหสุง ตัสสะ เตชะสา.
อันตรายทั้งปวง อย่าได้มีแก่ข้าพเจ้า ด้วยเดชแห่งบุญนั้น

นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง ธัมโม เม สะระณัง วะรัง,
สรณะอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระธรรมเป็นสรณะอันประเสริฐของข้าพเจ้า
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ วัฑเฒยยัง สัตถุสาสะเน,
ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ข้าพเจ้าพึงเจริญในพระศาสนาของพระศาสดา
ธัมมัง เม วันทะมาเนนะ*(นายะ) ยัง ปุญญัง ปะสุตัง อิธะ,
ข้าพเจ้าผู้ไหว้อยู่ซึ่งพระธรรม ได้ขวนขวายบุญใด ในบัดนี้
สัพเพปิ อันตะรายา เม มาเหสุง ตัสสะ เตชะสา.
อันตรายทั้งปวง อย่าได้มีแก่ข้าพเจ้า ด้วยเดชแห่งบุญนั้น

นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง สังโฆ เม สะระณัง วะรัง,
สรณะอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระสงฆ์เป็นสรณะอันประเสริฐของข้าพเจ้า
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ วัฑเฒยยัง สัตถุสาสะเน,
ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ข้าพเจ้าพึงเจริญในศาสนา ของพระศาสดา
สังฆัง เม วันทะมาเนนะ*(นายะ) ยัง ปุญญัง ปะสุตัง อิธะ,
ข้าพเจ้าผู้ไหว้อยู่ซึ่งพระสงฆ์ ได้ขวนขวายบุญใด ในบัดนี้
สัพเพปิ อันตะรายา เม มาเหสุง ตัสสะ เตชะสา.
อันตรายทั้งปวง อย่าได้มีแก่ข้าพเจ้า ด้วยเดชแห่งบุญนั้น

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s