เขียนโดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
กรรมการ มูลนิธิสมาคมโหรแห่งประเทศไทย ในพระสังฆราชูปถัมภ์
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน สารมูลนิธิสมาคมโหรฯ ฉบับฉลองพระชันษา ๑๐๐ ปี
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ตุลาคม ๒๕๕๖
ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๕๗๗ กษัตริย์เฟรดเดอริคที่ ๒ แห่งเดนมาร์ก ได้เรียกตัวทีโค บราห์ จากหอดูดาวยูเรนิบอร์ก บนเกาะฮเวน (Hven Island) ปัจจุบันคือเกาะเวน Ven) ให้มาเข้าเฝ้าที่ปราสาทเฟรเดอริคบอร์ก เพื่อเข้าร่วมพิธีประสูติของพระโอรส ซึ่งมีพระนามว่า คริสเตียน (ต่อมาคือ พระเจ้าคริสเตียนที่ ๔ แห่งเดนมาร์ก) ทรงประสูติเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ค.ศ.๑๕๗๗ เวลา ๑๖:๓๐ น.
กษัตริย์เฟรดเดอริคที่ ๒ มอบหมายภารกิจสำคัญยิ่งให้กับบราห์ นั่นคือ การคำนวณดวงพระชาตาของพระโอรสพร้อมคำพยากรณ์โดยละเอียด โดยทรงกำชับว่า บราห์ต้องทำให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม กว่าบราห์จะทำงานเสร็จก็ล่วงเข้าไปในเดือนกรกฎาคม แม้ว่าความยุ่งยากในการทำส่วนหนึ่งจะอยู่ที่การต้องปักดวงพระชาตาด้วยดิ้นทองลงบนกำมะหยี่เขียวและเขียนคำพยากรณ์เป็นภาษาละติน แต่ความยุ่งยากสำคัญสำหรับโหรยุคนั้นก็คือการขาดปฏิทินโหรที่ละเอียดแม่นยำ อย่างทุกวันนี้ ซึ่งนั่นก็ต้องรอหลังจาก โจฮันส์ เคปเลอร์ ศิษย์เอกของบราห์ ที่นำเอาข้อมูลการสังเกตตำแหน่งดวงดาวไปคิดค้นทฤษฏีการโคจรของดาวเคราะห์สำเร็จก่อน หลังจากนั้นอีกหลายสิบปี
คำพยากรณ์ของบราห์ในครั้งนั้นส่งผลแม่นยำอย่างมหัศจรรย์ เขาเริ่มจากการพยากรณ์พื้นดวงว่า “เมื่อศุกร์เป็นดาวเจ้าเรือนที่ ๑ เจ้าชาตาจะเป็นผู้มีอากัปกิริยางดงาม มีชีวิตชีวา เป็นที่ชื่นชอบ และช่างฝัน อีกทั้งเต็มไปด้วยความรู้สึกและความหลงใหล พระองค์ทรงเข้าใจและมีสัมผัสทางศิลปะและดนตรี” (พระเจ้าคริสเตียนที่ ๔ ทรงเป็นกษัตริย์ที่เป็นที่รักของประชาชนมากที่สุดพระองค์หนึ่งของเดนมาร์ก ทรงอุปถัมภ์ศิลปะและดนตรีจนได้ชื่อว่าเป็นราชสำนักแห่งดนตรี เป็นรองเพียงพระราชินีอลิซาเบ็ธที่ ๑ แห่งอังกฤษเท่านั้น ) จากนั้น บราห์เริ่มขยายความจากการกุมกันของดาวศุกร์และดาวอังคารซึ่งเป็นดาวเจ้าเรือนที่ ๗ ซึ่งเป็นเรือนว่าด้วยสงครามสำหรับดวงพระชาตาของกษัตริย์ว่า “ทรงสนใจในเรื่องศาสตราวุธและการสงคราม” (พระองค์ทรงโปรดเรื่องการทหาร ทรงก่อสร้างป้อมปราการใหม่ ทรงขยายกองทัพเรือจากเรือ ๒๒ ลำเป็น ๖๐ ลำ และทรงนำเดนมาร์กเข้าสู่สมรภูมิหลายครั้งตลอดรัชกาล) และเมื่อสังเกตจากการเล็งกันของจันทร์และดาวพฤหัส บราห์จึงอธิบายว่า “พระองค์ทรงสนใจในเรื่องความรักยิ่งไปกว่าการแต่งงาน และทรงมีความสัมพันธ์กับสตรีหลายคนด้วย” (พระเจ้าคริสเตียนที่ ๔ ทรงอภิเษกสมรสสองครั้งและทรงมีสัมพันธ์กับสตรีหลายราย)
บราห์พยากรณ์ว่า “เมื่อพระโอรสทรงมีพระชนมายุได้ราว ๒-๓ พรรษา จะเป็นช่วงเวลาอันเป็นมงคลที่สุดในชีวิต” ผลก็คือ ในเดือนเมษายน ค.ศ.๑๕๘๐ เมื่อพระชนมายุครบ ๓ พรรษา ทรงได้รับโปรดเกล้าฯเป็นมกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์ก ตรงนี้ บราห์ไม่ได้ระบุไว้ว่า ใช้วิธีการอะไรในการพยากรณ์ แต่เราทราบว่าในยุคนั้น ปฏิทินโหรยังไม่แม่นยำเพียงพอ ทำให้โหรไม่นิยมใช้การพยากรณ์จรโดยใช้ดาวจรปัจจุบัน (Transit) แต่นิยมใช้การพยากรณ์จรตามอายุขัยปฐมบท (Primary Direction) ซึ่งมาจากเกณฑ์ที่ว่า ๑ องศาเท่ากับ ๑ ปี เพราะมีความสะดวกรวดเร็วในการพยากรณ์อนาคตมากกว่า จากเกณฑ์นี้ เราสังเกตพบว่า อีก ๒ องศากว่า จันทร์ก็จะโคจรไปเล็งดาวพฤหัส จึงอนุมานได้ว่าเป็นโครงสร้างที่บราห์ใช้ในการพยากรณ์ช่วงเวลามงคลดังกล่าว
บราห์ยังพยากรณ์ต่อไปว่า “ในช่วงอายุ ๑๗-๒๐ พรรษา จะเป็นช่วงสำคัญที่สุดในชีวิตของพระโอรสคริสเตียน” ผลก็คือ ทรงได้ทำพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์เดนมาร์กอย่างสมบูรณ์เมื่อ ๒๙ สิงหาคม ค.ศ.๑๕๙๖ เมื่อทรงมีพระชนมายุ ๑๙ พรรษา ๔ เดือน ซึ่งก็มาจากโครงสร้างดาวเสาร์กับดวงอาทิตย์ ที่ระยะเชิงมุมจากเสาร์ถึงอาทิตย์ในมุมฉากอยู่ที่ราวๆ ๒๐ องศา นั่นเอง
คำปิดท้ายการพยากรณ์ของบราห์คือ “ไม่มีปัจจัยใดบ่งชี้ถึงการสวรรคตด้วยความรุนแรง การสวรรคตจะอยู่ในลักษณะการบรรทมหลับไปตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นผลจากการใช้ชีวิตทั้งดื่มและเสวยมากเกินไป” ผลก็คือ เพียง ๒ เดือนก่อนพระชนมพรรษา ๗๑ พรรษา พระเจ้าคริสเตียนที่ ๔ ทรงป่วยจากปัญหาช่องท้องและการเสวยไม่ได้ และสวรรคตด้วยอาการตามที่แพทย์บันทึกไว้ว่า “พระองค์ทรงสวรรคตอย่างสงบ ปราศจากความเจ็บปวดหรือการดิ้นรนจากความตาย ราวกับว่าบรรทมหลับไป” นักโหราศาสตร์รุ่นหลังอนุมานว่า คำพยากรณ์ของบราห์มาจากโครงสร้างจันทร์เล็งพฤหัส ซึ่งบ่งบอกชีวิตที่มีมากจนล้น ดาวพฤหัสในราศีกันย์หมายถึงอาหาร จันทร์ซึ่งเป็นดาวประจำราศีกรกฎ หมายถึง ท้อง รวมถึงดาวเจ้าเรือนที่ ๑๒ ซึ่งดาวพฤหัสลอยอยู่นั้นคือดาวพุธ ทำมุมโยค (๖๐ องศา) กับดาวอังคารและดาวศุกร์ที่กุมกันอยู่
ทีโค บราห์ (Tycho Brahe *ชื่อของ Tycho Brahe ออกเสียงได้หลายแบบ หากออกเสียงเป็นภาษาเดนมาร์ก จะออกเสียงว่า “ทีโค บราห์” ถ้าออกเสียงแบบละตินจะออกเสียงว่า “ทีโค บราเฮ” ถ้าออกเสียงแบบเยอรมันจะออกเสียงว่า “ทูโช บราห์” ถ้าออกเสียงแบบอังกฤษจะออกเสียงว่า “ไทโค บราห์” สำหรับบทความนี้ ขอทับศัพท์ด้วยเสียงแบบเดนมาร์ก) โหรชาวเดนมาร์กผู้ยิ่งใหญ่ในยุคเรอเนสซองซ์ (Renaissance) เกิดเมื่อ ๑๔ ธันวาคม ค.ศ. ๑๕๔๖ เวลา ๑๐:๔๗ น. ในปราสาทคนุสทอร์ป เมืองสแกนเนีย ประเทศเดนมาร์ก (ปัจจุบันอยู่ในประเทศสวีเดน) เขาเกิดมาในตระกูลขุนนางชั้นสูงของเดนมาร์กทั้งสายพ่อและแม่ พ่อของเขา ออตเตอ บราห์ (Otte Brahe) เป็นขุนนางคนสำคัญของราชสำนัก แม่ของเขา บีอาเต บิลเล (Beate Bille) มาจากครอบครัวชั้นนำที่มีสมาชิกอยู่ในตำแหน่งสำคัญทางการเมืองและศาสนา เขาเป็นลูกคนที่สองและเป็นลูกชายคนโตในบรรดาพี่น้องทั้งหมด ๑๐ คน
เมื่ออายุได้สองขวบ ลุงของเขา เจอเกน บราห์ (Jorgen Brahe) ซึ่งเป็นขุนนางในราชสำนักเช่นกัน แต่ไม่มีบุตร ได้พาเขาไปเลี้ยงดูเป็นบุตรบุญธรรม เขาจึงเติบโตขึ้นมาด้วยการเลี้ยงดูอย่างดีตามที่ชนชั้นนำในยุคนั้นได้รับ เขาเริ่มเรียนภาษาละตินตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ และมีคุณครูมาสอนแบบส่วนตัวอยู่ห้าปี จนกระทั่ง เมื่ออายุ ๑๓ ปี เขาได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน โดยศึกษาวิชาวาทศิลป์และปรัชญา เตรียมตัวเข้าศึกษาวิชากฎหมาย เพื่อเตรียมความพร้อมในการมารับราชการเป็นขุนนางต่อไป อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในวันที่ ๒๑ สิงหาคม ค.ศ.๑๕๖๐ ซึ่งก่อให้เกิดกระแสความสนใจต่อสาธารณะ ทีโคจึงเริ่มสนใจวิชาดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ และเมื่อเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาจริงๆตามที่พยากรณ์ไว้ ทีโคจึงเกิดความประทับใจและตัดสินใจที่จะทุ่มเทชีวิตศึกษาดารา-โหราศาสตร์ เพื่อสามารถพยากรณ์เหตุการณ์ในอนาคตได้
เมื่อเขาเรียนจบจากมหาวิทยาลัย เขาก็ถูกส่งไปศึกษานิติศาสตร์ที่เมืองไลป์ซิก (Leipsic) ในเยอรมัน อย่างไรก็ตาม เมื่อเขาว่างจากการเรียน เขาก็ทุ่มเทศึกษาตำราดารา-โหราศาสตร์ที่เขาชอบ และสังเกตจากฟ้าจริงทุกค่ำคืน จนพบว่า ปฏิทินโหรในยุคนั้นมีความคลาดเคลื่อนจากฟ้าจริงอย่างมาก เขาจึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาปฏิทินโหรที่มีความแม่นยำสูงขึ้นมาให้ได้ จึงได้ไปศึกษาวิชาเลขคณิตและเรขาคณิตเพิ่มเติม ต่อมา ในเดือนสิงหาคม ๑๕๖๓ เกิดปรากฏการณ์พฤหัสกุมเสาร์ ทีโคได้พัฒนาอุปกรณ์วัดมุมระหว่างดาวและใช้สังเกตปรากฏการณ์จริง เขาพบว่า วันเวลาที่เกิดปรากฏการณ์จริงได้แตกต่างจากวันเวลาที่ได้จากการคำนวณมาก และจากปรากฏการณ์นี้ เขาสามารถพยากรณ์เหตุการณ์โรคระบาดที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีต่อมาได้ เพราะว่าปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นที่ต้นราศีสิงห์ และไม่ไกลจากกลุ่มดาวกรกฎ ทั้งสองราศีนี้ ทอเลมี (Ptolemy) ให้ความหมายว่า “ทำให้หายใจไม่ออกและเกิดโรคระบาด!”
หลังจากใช้เวลาสามปีในไลป์ซิก บราห์ได้เดินทางไปทั่วเยอรมัน แต่เมื่อคุณลุงเขาเสียชีวิตลง เขาก็ถูกเรียกตัวกลับไปเดนมาร์กเพื่อรับมรดก เมื่อกลับมาอยู่ที่เดนมาร์ก ความทุ่มเทในวิชาดารา-โหราศาสตร์ของเขานั้นไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับคนรอบข้าง เพราะเขาถูกคาดหวังให้เข้ารับราชการให้สมกับชนชั้นขุนนางของเขา เมื่ออยู่ในภาวะที่อึดอัดเช่นนั้น บราห์จึงออกเดินทางไปเยอรมันอีกครั้ง โดยไปอาศัยในเมืองวิทเทมเบิร์ก (Wittemberg) ราวหกเดือน แต่เกิดโรคระบาดในเมือง เขาจึงเดินทางต่อไปเมืองโรสต็อค (Rostock) ในฤดูใบไม้ร่วงปีนั้น และที่นั่นก็เกิดเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเขาไปตลอดชีวิต ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๑๕๖๖ เขาได้รับเชิญไปงานแต่งงาน และเกิดมีเรื่องถกเถียงกับขุนนางท้องถิ่น ชื่อ แมนเดรุพ แพสเบอร์ก (Manderup Parsberg) เกี่ยวกับสูตรคณิตศาสตร์ พอถึงวันที่ ๒๗ ธันวาคม ทั้งคู่ก็เถียงกันอีกครั้ง และตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการดวลดาบในวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๑๕๖๖ เวลา ๑๙:๐๐ น. การต่อสู้ดำเนินไปจนฟ้ามืดมิด ท่ามกลางความมืดนั้นเอง บราห์ถูกฟันเข้าที่จมูกจนดั้งแหว่งหายไป นั่นคือจุดสิ้นสุดของการดวลดาบ บราห์ต้องรักษาจมูกของเขาด้วยการใช้จมูกเทียมทำจากทองคำและเงินแทน (เวลานั้น อังคารจรมากุมอาทิตย์กำเนิด เสาร์จรตั้งฉากกับเมอริเดียนกำเนิด อาทิตย์จร = จันทร์จร = พฤหัส/เสาร์ = เมอริเดียน/พลูโต = ลัคนา/มฤตยู บ่งบอกถึงเกิดเรื่องเดือดร้อนต่อร่างกาย รวมถึงวันเวลาที่ดวลดาบบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันที่เกิดขึ้นส่งผลถึงระดับจิตวิญญาณ)
หลังจากเหตุการณ์นั้น บราห์ยังคงอยู่ในเมืองโรสต็อค ต่อไปอีกสองปี จากนั้นเดินทางต่อไปยังเมืองอ็อกซบวร์ก (Augsburg) ที่นี่บราห์ได้พบเพื่อนที่สนใจในการพัฒนาอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ชื่อ พอล เฮนเซล (Paul Hainzel) และได้สร้างควอตแดรนท์ (Quadrant) ซึ่งเป็นอุปกรณ์วัดมุมทางดาราศาสตร์ ที่มีรัศมี ๑๔ คิวบิท หรือประมาณ ๗ เมตร ใหญ่จนกระทั่งใช้คนยี่สิบคนในการขนย้าย สามารถวัดมุมเงย (Altitude) ได้ละเอียดในระดับ ลิบดา เลยทีเดียว รวมถึงได้สร้างเซ็กแทนท์ (Sextant) ขนาดใหญ่ เพื่อวัดระยะเชิงมุมระหว่างดวงดาว อีกด้วย
จากเมืองอ็อกซบวร์ก บราห์ได้เดินทางไปอีกหลายเมือง และเดินทางกลับเดนมาร์กเมื่อสิ้นปี ๑๕๗๑ ถึงเวลานี้ ชื่อเสียงในฐานะนักดาราศาสตร์ของเขา ทำให้ผู้คนต้อนรับเขาอย่างอบอุ่น แตกต่างไปจากเมื่อคราวเขาเดินทางไป แม้กระทั่งกษัตริย์ก็ทรงเชิญเขาไปหารือในวัง ท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นใจ บราห์และลุงของเขา สเตโน บิลเล ได้ร่วมกันสร้างหอดูดาวขึ้น และเขายังคงพัฒนาอุปกรณ์ดาราศาสตร์ที่คล้ายกับที่สร้างที่เมืองอ็อกซบวร์ก ต่อไป แต่ขยายขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อวัดมุมได้ละเอียดยิ่งขึ้น
ในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๑๕๗๒ ขณะที่เขากลับจากรับประทานอาหารค่ำ เขามองขึ้นไปบนฟ้า พบแสงที่ผิดปกติตรงบริเวณกลุ่มดาวแคสสิโอเปีย ตรงเหนือศีรษะของเขา เขามั่นใจว่าเขาไม่เคยเห็นมาก่อน เขาตามคนรับใช้มาช่วยดูเพื่อยืนยันว่าไม่เคยมีใครเห็นดาวที่ส่องสว่างดวงนี้มาก่อนจริงๆ เขารีบกลับไปที่หอดูดาว วัดระยะห่างเชิงมุมจากดาวในกลุ่มดาวแคสสิโอเปียที่ใกล้ที่สุดไปยังดาวดวงนี้ เขาบันทึกทั้งรูปร่าง ลักษณะ ขนาด ระดับความสว่าง และสี เอาไว้ ดาวดวงนี้ปรากฏบนท้องฟ้ายาวนานถึง ๑๖ เดือนจนหายไปในเดือนมีนาคม ๑๕๗๔ ระหว่างที่ปรากฏ แสงนี้เหมือนกับดาว ไม่มีหางเหมือนดาวหาง มีแสงสว่างชัดเจน ใหญ่กว่าดาวซิริอุส หรือดาวฤกษ์ดวงอื่น ดูใหญ่กว่าดาวพฤหัส ใกล้เคียงกับดาวศุกร์ในช่วงที่สว่างที่สุด บราห์ได้ตีพิมพ์ผลงานการสังเกตดาวดังกล่าวในปี ๑๕๗๓ ในชื่อหนังสือว่า “De nova et nullius aevi memoria prius visa stella” หรือ “ว่าด้วยดาวดวงใหม่ที่ไม่เคยมีใครเห็นในชีวิตหรือความทรงจำมาก่อน” โดยเรียกดาวนี้ว่า ดาวดวงใหม่ (De Nova Stella) ชื่อเสียงของเขาจากงานดังกล่าวได้ขจรขจายไปทั่วยุโรป ได้รับเชิญไปบรรยายทั้งในเยอรมันและอิตาลี ปัจจุบันเราทราบว่าดาวดวงใหม่ของทีโค คือซุปเปอร์โนวา (Supernova) หรือการเกิดระเบิดอย่างรุนแรงของดาวฤกษ์ ที่ห่างจากโลกราว ๗,๕๐๐ ล้านปีแสง นักดาราศาสตร์เรียกซุปเปอร์โนวานี้ว่า ซุปเปอร์โนวาของทีโค (Tycho’s Supernova) เพราะผลงานการสังเกตอย่างละเอียดในหนังสือดังกล่าวนั่นเอง
ในช่วงนั้น ชีวิตครอบครัวของบราห์ก็สมบูรณ์ยิ่งขึ้นเมื่อบุตรสาวคนแรกของเขาถือกำเนิดขึ้นมาในปี ๑๕๗๓ จากภรรยาที่ชื่อว่า จอร์เกน แฮนเซ่น บราห์ไม่ได้จัดงานแต่งงานกับภรรยาอย่างเป็นทางการ เพราะเธอเป็นสามัญชน ซึ่งต่างชนชั้นกับเขา ตามประเพณีในยุคนั้น ภรรยาที่มาจากสามัญชนแม้ว่าจะแต่งงานกับขุนนาง ก็ยังคงเป็นสามัญชนต่อไป อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่ก็มีบุตรธิดาด้วยกัน ๘ คน
แม้ว่าจะมีบุตร บราห์ก็ยังเดินสายบรรยายในยุโรปในฐานะนักดาราศาสตร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังแห่งยุค จนกระทั่ง กษัตริย์เฟรดเดอริกที่ ๒ ทรงเรียกตัวเขากลับมา เพื่อยกเกาะฮเวน (Hven) ให้เขาทั้งเกาะ พร้อมกับสนับสนุนทางการเงินให้เขาสร้างหอดูดาวพร้อมอุปกรณ์ที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นบนเกาะดังกล่าว เพื่อให้ค้นคว้าวิจัยดาราศาสตร์ที่นั่น ด้วยความรักชาติอีกทั้งข้อเสนอดังกล่าวก็เย้ายวนเกินกว่าใครจะปฏิเสธได้ บราห์และครอบครัวจึงย้ายไปอาศัยอยู่ในเกาะฮเวน และเริ่มต้นโครงการหอดูดาวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดโครงการหนึ่งในประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์โลก
เกาะฮเวนเป็นเกาะที่อยู่ระหว่างเดนมาร์กและสวีเดน ขนาด ๔.๕ x ๒.๔ กิโลเมตร บนเกาะมีทุ่งนา ที่อุดมสมบูรณ์ ให้ธัญพืชที่ดีที่สุด และมีปศุสัตว์ทั้งม้า วัว และแกะ รวมถึงกวาง กระต่าย และนกจำนวนมาก ณ ขณะนั้นมีหมู่บ้านอยู่บนเกาะเพียงหมู่บ้านเดียวซึ่งมีประชากรราวสี่สิบคน หลังจากสำรวจเกาะแล้ว บราห์ได้สร้างหอดูดาวชื่อ ยูเรนิบอร์ก (Uraniborg) ซึ่งแปลว่า ปราสาทยูเรเนีย ตั้งชื่อตามเทพยูเรเนีย เทพธิดาแห่งดาราศาสตร์ตามตำนานเทพปกรณัมของกรีก บราห์ได้กำหนดวันวางศิลาฤกษ์ (Cornerstone) ไว้ในวันที่ ๘ สิงหาคม ๑๕๗๖ โดยกำหนดเวลาฤกษ์ไว้เมื่อ “เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า ร่วมกับดาวพฤหัสที่อยู่ใกล้ดาวเรกูลัส ขณะที่ดวงจันทร์ลอยอยู่ในราศีกุมภ์”
หอดูดาวยูเรนิบอร์ก ล้อมรอบด้วยกำแพงสูง ๕.๕ เมตร ยาว ๗๕ เมตร มุมทั้งสี่วางอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ และ ตะวันออก-ตะวันตก อย่างเที่ยงตรง อาคารตรงกลางสร้างจากอิฐสีแดง ชั้นล่าง มีห้องสมุดทางหอทิศใต้ ห้องครัวทางหอทิศเหนือ และตรงกลางมีห้องขนาดเท่ากัน ๔ ห้อง โดยห้องหนึ่งเป็นของบราห์และครอบครัว ส่วนอีกสามห้องสำหรับนักดาราศาสตร์ที่มาเยือน ชั้นสองประกอบด้วยห้องขนาดใหญ่หนึ่งห้องและห้องขนาดเล็กสองห้อง ห้องขนาดใหญ่สำหรับแขกที่เป็นราชวงศ์ ชั้นที่สาม เป็นห้องเก็บเสบียง เกลือ และเชื้อเพลิง ที่เหลือเป็นห้องทดลองของ บราห์ ชั้นบนใต้หลังคามีห้องเล็กแปดห้อง สำหรับนักเรียน นอกจากอาคารตรงกลางแล้ว บราห์ยังติดตั้งอุปกรณ์ดาราศาสตร์ไว้ที่หอทางทิศเหนือและทิศใต้อีกด้วย อุปกรณ์ที่ถือว่าเป็นสุดยอดในหอดูดาวแห่งนี้ก็คือ ลูกโลกทองเหลือง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางห้าฟุต ที่ได้จารึกดวงดาวนับพันตามแผนที่ดาวที่บราห์ได้จัดทำขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อสร้างเสร็จและใช้งานจริง บราห์พบว่าอาคารดังกล่าวยังไม่เพียงพอต่อการติดตั้งอุปกรณ์ดาราศาสตร์ของเขาให้สมบูรณ์ ที่สำคัญ อุปกรณ์ที่ติดตั้งบนหอดูดาวยังไม่แข็งแรงเพียงพอต่อแรงลม ซึ่งทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการวัดมุมดาว เขาจึงก่อสร้างหอดูดาวขึ้นอีกแห่งหนึ่งถัดไปทางใต้จากหอดูดาวยูเรนิบอร์ก โดยก่อสร้างลงไปใต้ดินเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ดาราศาสตร์ขนาดใหญ่ของเขาซึ่งสามารถปกป้องจากลมและสภาพอากาศได้ หอหลังใหม่นี้มีชื่อว่า สเติร์นบอร์ก (Stjerneborg) แปลว่า ปราสาทแห่งดวงดาว
ในยุคของบราห์นั้น ยังไม่มีการประดิษฐ์กล้องดูดาว (Telescope) ที่ใช้กำลังขยายของเลนส์มาช่วยขยายภาพดาวให้ชัดเจนขึ้นมาใช้งาน อุปกรณ์ดูดาวของเขาจึงประกอบด้วย ควอดแดรนท์ (Quadrant) และเซ็กแทนท์ (Sextant) ขนาดใหญ่ ที่สามารถวัดมุมดาวด้วยตาเปล่าได้ละเอียดในระดับ ๑๐ พิลิบดาเลยทีเดียว ซึ่งถือว่าละเอียดที่สุดที่สายตามนุษย์จะสังเกตได้แล้ว การจะข้ามผ่านจุดนี้ มนุษย์ต้องประดิษฐ์เลนส์ขยายมาช่วยในรูปแบบของกล้องดูดาวซึ่งต้องรออีกจนกระทั่ง ค.ศ.๑๖๐๘ หรืออีกราว ๓๐ ปีต่อมา
โครงการสร้างหอดูดาวนี้ได้ใช้เงินทุนจำนวนมาก ว่ากันว่าใช้เงินไปราว ๑% ของงบประมาณของรัฐบาลเดนมาร์กในขณะนั้น บ้างก็ว่าใช้ทองคำไปราวๆหนึ่งตัน หากเราคิดเป็นมูลค่าทองคำในปัจจุบัน (ราคาทองคำปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ ๑,๓๓๐ ดอลลาร์สหรัฐฯต่อทรอยซ์ออนซ์, ทองคำ ๑ เมตริกตัน เท่ากับ ๓๒,๑๕๐ ทรอยซ์ออนซ์ และอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯอยู่ที่ ๓๐.๙๕ บาท/ดอลลาร์ฯ) จะได้มูลค่าการก่อสร้างอยู่ที่ ๑,๓๒๓ ล้านบาทเลยทีเดียว นอกจากนั้น กษัตริย์เฟรดเดอ ริกยังทรงพระราชาทานเบี้ยหวัดให้ทีโคอีกปีละ ๒,๐๐๐ ริกซ์ดอลลาร์ และยังแต่งตั้งตำแหน่งเพิ่มเติมให้เขาซึ่งมีรายได้อีก ๑,๐๐๐ ริกซ์ดอลลาร์ต่อปี ลองคิดดูว่าเป็นค่าเงินเมื่อ ๔๐๐ กว่าปีก่อน หากคำนวณมาเป็นเงินปัจจุบันจะสูงขนาดไหน กล่าวได้ว่า ไม่เคยมีโหรคนใด หรือแม้แต่นักวิทยาศาสตร์คนใดในประวัติศาสตร์ที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลสูงขนาดนี้ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อบทความนี้ที่ตั้งไว้ว่า โหรผู้มั่งคั่งที่สุดในโลก นั่นเอง

ณ หอดูดาวบนเกาะแห่งนี้ ทีโค บราห์ ก็ได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจของเขาในการสังเกตและบันทึกปรากฏการณ์บนท้องฟ้าทุกค่ำคืนอย่างละเอียด เป็นเวลากว่า ๒๐ ปี จนเป็นบันทึกที่ละเอียดและล้ำค่าอย่างยิ่ง ในเดือนพฤศจิกายน ๑๕๗๗ ได้มีดาวหางปรากฏบนท้องฟ้า บราห์ได้สังเกตจากหอดูดาวแห่งนี้ นอกจากบันทึกสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์แล้ว บราห์ได้พยากรณ์จากปรากฏการณ์ดาวหางครั้งนี้ว่า “จะเกิดเจ้าชายจากภาคเหนือ ผู้ซึ่งจะเอาชนะเยอรมันได้ และจะสูญสิ้นในปี ๑๖๓๒” ผลก็คือ เจ้าชายกุสตาวุส อดอล์ฟัส ได้ประสูติในสวีเดนเมื่อปี ๑๕๙๔ ต่อมาขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์สวีเดน ได้นำทัพเอาชนะเยอรมันในสงครามสามสิบปี และสวรรคตในสนามรบในปี ๑๖๓๒ ตามคำพยากรณ์ของทีโค บราห์ทุกประการ
บราห์ได้ใช้ชีวิตของเขาบนเกาะแห่งนี้อย่างหรูหรา หอดูดาวยูเรนิบอร์กถูกสร้างขึ้นเหมือนกับปราสาทของเขา ได้รับการตกแต่งด้วยงานศิลปกรรมชั้นนำในยุคนั้น เขาจัดงานเลี้ยงรื่นเริงต้อนรับคนมีชื่อเสียงจากทั่วยุโรปที่เดินทางมาหาเขาอย่างไม่ขาดสาย ทั้งนักปราชญ์ นักวิชาการ ขุนนาง และเชื้อพระวงศ์ต่างๆ กล่าวได้ว่า ในยุคนั้น หากต้องการแสดงตนว่าเป็นผู้รักในวิชาความรู้ ก็ต้องหาทางแวะมาพบปะสนทนากับทีโค บราห์ นักดาราศาสตร์อันดับหนึ่งในยุคนั้นพร้อมเยี่ยมชมหอดูดาวที่ทันสมัยที่สุดซึ่งราชสำนักเดนมาร์กสนับสนุนให้ได้
นอกจากเป็นโหรหลวง นักดาราศาสตร์ชื่อดัง และใช้ชีวิตอย่างหรูหราอยู่ในปราสาทยูเรนิบอร์กแล้ว ยังมีแง่มุมหลายอย่างในชีวิตของเขา ที่คนเล่าต่อๆกันมาจนกลายเป็นเรื่องประหลาดและลึกลับ อย่างเช่น การที่บราห์เลี้ยงดูทาสรับใช้ที่เป็นคนแคระคนหนึ่งชื่อ เยปส์ ผู้ซึ่งเป็นเสมือนตัวตลกหลวงในปราสาทของบราห์ เยปส์จะคอยหมอบอยู่ใต้โต๊ะแทบเท้าบราห์อยู่ตลอดเวลา คอยรับอาหารที่เขาโยนให้มารับประทาน ว่ากันว่า คนแคระผู้นี้มีความสามารถพิเศษในการมองเห็นอนาคต เวลาเขาพูดอะไรออกมา ก็จะมีคนฟังอย่างใส่ใจ นอกจากนี้ เขายังเลี้ยงกวางตัวใหญ่ไว้ตัวหนึ่งจนเชื่อง แขกที่มาหาเขามักจดจำสัตว์เลี้ยงประหลาดตัวนี้ได้ ภายหลังกวางตัวนี้ดื่มเบียร์มากเกินไปในงานเลี้ยงจนทำให้ตกบันไดลงมาตาย
ในปี ๑๕๘๘ พระเจ้าเฟรดเดอริกที่ ๒ ผู้ทรงอุปถัมภ์ บราห์มาโดยตลอด ได้สวรรคตด้วยพระชนมพรรษา ๕๔ พรรษา และพระเจ้าคริสเตียนที่ ๔ ก็ได้ขึ้นครองราชสมบัติ กษัตริย์พระองค์ใหม่ด้วยพระชนมพรรษาเพียง ๑๑ พรรษา ในช่วงแรก ความสัมพันธ์ระหว่างบราห์กับกษัตริย์พระองค์ใหม่ยังไปด้วยดี โดยพระองค์ได้เสด็จมาเยี่ยมหอดูดาวยูเรนิบอร์กในปี ๑๕๙๑ ขณะนั้นทรงมีพระชนมพรรษา ๑๔ พรรษา บราห์ได้จัดงานเลี้ยงต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ และได้พาพระองค์เยี่ยมชมอุปกรณ์ดาราศาสตร์ พระเจ้า คริสเตียนที่ ๔ มีรับสั่งสอบถามบราห์ในเรื่องเครื่องจักรกลและคณิตศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อเรือ ครั้งนั้น บราห์ได้จัดทำลูกโลกทองเหลือง ที่จำลองกลไกของฟ้า ทั้งการขึ้นและการตกของดวงอาทิตย์ รวมถึงดิถีจันทร์ ถวายพระองค์ด้วย
อย่างไรก็ตาม ความโดดเด่นของบราห์ รวมถึงการได้รับการสนับสนุนทางการเงินอย่างมหาศาลจากราชสำนักเดนมาร์ก ทำให้บราห์มีศัตรูอยู่ราชสำนักจำนวนมาก รวมถึงอัครมหาเสนาบดี (King’s Chancellor) ด้วย ส่งผลให้ราชสำนักเริ่มตัดงบประมาณสนับสนุนบราห์ลงมาเรื่อยๆ ทำให้เขาไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายที่เขาเคยใช้อย่างฟุ่มเฟือยในปราสาทของเขาได้ มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบข้อร้องเรียนเกี่ยวกับตัวบราห์ ทั้งการใช้แรงงานชาวบ้านบนเกาะเวนหนักเกินไป รวมไปถึงการประเมินว่าผลงานของเขาไม่มีความคุ้มค่าต่อเงินที่ราชสำนักจ่ายออกไป ด้วยแรงกดดันเหล่านี้ บราห์จำเป็นต้องหาทางออกให้กับเขาและครอบครัว
ในปี ๑๕๙๙ บราห์ก็ได้อพยพครอบครัว ทาส คนรับใช้ และอุปกรณ์ตำรับตำราที่เคลื่อนย้ายได้ออกจากประเทศเดนมาร์ก ไปยังกรุงปราก ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิรูดอล์ฟที่ ๒ ผู้ดำรงตำแหน่งจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์อยู่ในขณะนั้น จักรพรรดิรูดอล์ฟทรงสนพระทัยในเรื่องวิทยาศาสตร์ การเล่นแร่แปรธาตุ และโหราศาสตร์ จึงไม่ยากเลยที่บราห์จะทำให้พระองค์ทรงอุปถัมภ์ตัวเขาและครอบครัวเอาไว้ เพียงการเข้าเฝ้าครั้งแรก พระองค์ทรงแต่งตั้งให้บราห์เป็นโหรหลวงและนักคณิตศาสตร์ประจำราชสำนัก โดยกำหนดเบี้ยหวัดรายปีให้บราห์ถึง ๓,๐๐๐ โครน รวมถึงบ้านพักสำหรับครอบครัวและหอดูดาวสำหรับการทำงานซึ่งให้บราห์เลือกได้ว่าจะอยู่ในกรุงปรากหรือจะอยู่นอกเมือง
ด้วยการสนับสนุนจากจักรพรรดิอย่างเต็มที่ บราห์จึงเริ่มรับสมัครผู้ช่วยเข้ามาทำงาน และเขาก็ได้รับ โจฮันส์ เคปเลอร์ (Johannes Kepler) ชาวเยอรมัน เข้ามาช่วยงาน บราห์ประทับใจในอัจฉริยภาพของผู้ช่วยคนนี้ และมอบหมายให้เคปเลอร์ทำหน้าที่วิเคราะห์การโคจรของดาวอังคาร และให้พยายามพิสูจน์จักรวาลในระบบที่บราห์คิดขึ้นเอง เรียกว่า Tycho’s Geo-Heliocentric System ซึ่งคิดค้นมาเพื่อแก้ข้อผิดพลาดของจักรวาลแบบทอเลมีที่มีโลกเป็นศูนย์กลาง และแตกต่างจากจักรวาลแบบโคเปอนิคัสที่ให้ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง ในระบบของบราห์นั้น ให้ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์โคจรรอบโลก ขณะที่ดาวเคราะห์ดวงอื่นโคจรรอบดวงอาทิตย์ อย่างไรก็ตาม เคปเลอร์ไม่ได้เชื่อในระบบของบราห์ แต่เขาเชื่อในระบบโคเปอนิคัสมากกว่า ทำให้เกิดความขัดแย้งอยู่เสมอ แต่เคปเลอร์จำเป็นต้องทำงานกับบราห์ต่อไป เพราะต้องการฐานข้อมูลการโคจรดาวเคราะห์กว่าสามสิบปีที่บราห์รวบรวมมาโดยตลอด ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ค่อนข้างซับซ้อน ส่วนหนึ่งมาจากความแตกต่างทางฐานะและชนชั้น บราห์เติบโตมาในชนชั้นขุนนางที่มีฐานะร่ำรวย ขณะที่เคปเลอร์เติบโตมาจากครอบครัวที่ฐานะไม่ดี บราห์มีบุคลิกของคนที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ถ้าเป็นภาษาสมัยนี้ก็คือเขาเป็นเซเลบ (Celebrity) ของสังคมชนชั้นสูงในยุโรป ขณะที่เคปเลอร์เป็นชายที่ดูขี้โรค ขาโก่ง สายตาสั้น และมีนิ้วพิการ ความแตกต่างนี้ส่งผลให้ครั้งหนึ่งเคปเลอร์เคยกล่าวว่า “ความเห็นของข้าพเจ้าต่อทีโคเป็นอย่างนี้ เขารวยขั้นสุดยอด แต่เขาไม่รู้ว่าจะใช้มันอย่างไรให้เหมาะสม ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของคนรวย ดังนั้น คงต้องมีใครสักคนมาฉกชิงความรวยมาจากเขา” อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างของทั้งสองคนกลับทำให้เมื่อมาร่วมงานกันได้ก่อให้เกิดผลงานสำคัญที่พลิกโฉมวงการดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ครั้งสำคัญ โดยบราห์เป็นเจ้าของฐานข้อมูลตำแหน่งดาวเคราะห์อย่างละเอียดตลอด ๓๐ ปี แต่เขาไม่สามารถดึงเอาข้อมูลเหล่านั้นมาสร้างทฤษฎีได้ ขณะที่เคปเลอร์เป็นอัจฉริยะที่นำข้อมูลของบราห์ออกมาพัฒนาเป็น กฎการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ ๓ ข้อที่ทำให้มนุษย์รู้จักกลไกฟ้าจนสามารถจัดทำปฏิทินโหรได้อย่างแม่นยำได้

ทั้งคู่ได้ร่วมงานในกรุงปรากอยู่เกือบ ๒ ปี จนกระทั่งค่ำวันหนึ่งในฤดูใบไม้ร่วงของปี ๑๖๐๑ ในงานเลี้ยงอาหารค่ำที่พระราชวัง ทีโค บราห์ได้อั้นปัสสาวะเป็นเวลานานโดยไม่ยอมเสียมารยาทลุกจากโต๊ะอาหาร จนทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบรุนแรง เขาล้มป่วยหนักเป็นเวลาหลายวันกระทั่งเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๑๖๐๑ เคปเลอร์ถือโอกาสตอนนั้นหยิบฉวยข้อมูลตำแหน่งดวงดาวทั้งหมดของบราห์ไป เคปเลอร์ได้เขียนในภายหลังว่า “ข้าพเจ้าสารภาพว่า เมื่อทีโคเสียชีวิต ข้าพเจ้าได้ถือโอกาสที่ไม่มีทายาทคนใดของบราห์สนใจ หยิบบันทึกการสังเกตการณ์มาไว้ในการครอบครอง หรือบางทีอาจเรียกได้ว่าแย่งชิงเอามา” ไม่กี่วันต่อมา จักรพรรดิรูดอล์ฟก็ได้แต่งตั้งเคปเลอร์ดำรงตำแหน่งนักคณิตศาสตร์ประจำราชสำนักแทนบราห์ ด้วยหน้าที่การงานที่มั่นคงและมีข้อมูลของบราห์อยู่ในมือ เคปเลอร์ก็ได้พัฒนากฎการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์สำเร็จ รวมถึงได้ตีพิมพ์ ตารางรูดอล์ฟ (Rudolphine Tables) ซึ่งเป็นตารางตำแหน่งดาวเคราะห์และดาวฤกษ์ โดยใช้ข้อมูลจากบันทึกของบราห์ รวมกับสูตรคำนวณที่เคปเลอร์พัฒนาเพิ่มเติม ชื่อตารางนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อถวายเป็นเกียรติแด่จักรพรรดิรูดอล์ฟที่ ๒ ผู้อุปถัมภ์งานวิจัยของทั้งบราห์และเคปเลอร์

การเสียชีวิตของบราห์นั้น เป็นเรื่องลึกลับ ที่มีผู้ตั้งสมมติฐานสาเหตุการตายหลายอย่าง นอกจากที่เล่าไปแล้ว ยังมีสมมติฐานที่ว่าบราห์ถูกวางยาด้วยปรอท โดยอ้างว่าพบปริมาณสารปรอทสูงผิดปกติที่หนวดของเขา มีผู้แต่งแต้มเรื่องราวดังกล่าวด้วยการกล่าวหาว่าเคปเลอร์เป็นผู้วางยาพิษเพื่อหวังตำแหน่งโหรหลวงและบันทึกข้อมูลของ บราห์ อีกเรื่องหนึ่งก็บอกว่า พระญาติของพระเจ้าคริสเตียนแห่งเดนมาร์กได้มาวางยาพิษบราห์ เพราะมีข่าวลือว่าบราห์มีสัมพันธ์ลับๆกับพระชนนีของพระเจ้าคริสเตียน อย่างไรก็ตาม เมื่อปี ค.ศ. ๒๐๑๐ ได้มีทีมนักวิทยาศาสตร์ขุดศพของบราห์ขึ้นมาเพื่อทำการพิสูจน์ และตีพิมพ์ผลงานวิจัยในปี ๒๐๑๒ สรุปว่า ปริมาณปรอทในศพของ บราห์มีไม่มากพอที่จะเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของเขา และสรุปว่า บราห์น่าจะเสียชีวิตจากการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะตามที่เชื่อมาแต่เดิมมากกว่า
ชีวิตของทีโค บราห์ ถือได้ว่าเป็นชีวิตที่มีสีสันโลดโผนเกินกว่าโหรหรือนักดาราศาสตร์คนใดจะเทียบได้ ความที่เขาทุ่มเทศึกษาดารา-โหราศาสตร์ตลอดชีวิตของเขา ทำให้เขามีความลึกซึ้งในปรัชญาเรื่องนี้มาก ครั้งหนึ่ง บราห์เคยไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน เมื่อปี ๑๕๗๔ ว่า “ดาวดวงใหม่ (ซุปเปอร์โนวา), ดาวหาง, อุปราคา, การกุมกันของดาว และปรากฏการณ์ต่างๆบนฟ้าย่อมส่งผลต่อเหตุการณ์บนพื้นดิน” และ “นักโหราศาสตร์ไม่ได้ผูกมัดเจตจำนงของมนุษย์ไว้กับดวงดาว แต่ได้เปิดเผยว่ามีบางอย่างในตัวมนุษย์ที่สามารถผลักดันเหนือระดับดวงดาวได้ พลังของมนุษย์ที่จะเอาชนะความโน้มเอียงจากดวงดาวถ้ามนุษย์เลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างมนุษย์ที่แท้จริงและอยู่เหนือโลก แต่เมื่อมนุษย์เลือกที่จะประพฤติอย่างสัตว์ ที่เดินตามสัญชาตญาณอย่างมืดบอดและกลายเป็นพวกเดียวกับสัตว์ เขาไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่า พระเจ้าคือสาเหตุของการพลัดหลงนี้ พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์เพื่อที่ว่าเขาอาจเอาชนะความโน้มเอียงของดวงดาวได้ถ้าเขามุ่งมั่นจริงจัง” คำกล่าวนี้มีหลายท่านเข้าใจไปว่า เป็นเพราะบราห์เกิดความไม่แน่ใจในโหราศาสตร์ แต่สำหรับเราที่เป็นนักโหราศาสตร์แล้ว ย่อมเข้าใจในความหมายที่บราห์ต้องการสื่อสาร โหราศาสตร์เป็นเพียงวิชาที่สามารถบ่งบอกศักยภาพของชีวิตที่ส่งเรามาเกิดในชาตินี้ พร้อมทั้งบอก กาละและเทศะที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นกับชีวิตของเรา แต่เราเองย่อมสามารถสร้างกรรมปัจจุบันที่จะพัฒนาชีวิตของเราสู่จุดสูงสุดได้
และในฐานะพุทธศาสนิกชน เราย่อมเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ที่สามารถพัฒนาตนเองจากปุถุชนธรรมดาให้ก้าวหน้าจนสู่ระดับเหนือโลก หรือระดับโลกุตตระได้ โดยมีตัวอย่างคือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระศาสดาแห่งพระพุทธศาสนา ที่ถือกำเนิดเป็นมนุษย์ ไม่ได้เป็นเทพเจ้าเหนือมนุษย์ที่ไหน แต่พระองค์ก็สามารถตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นผู้ไกลจากกิเลส และเป็นผู้ปราศจากทุกข์ ซึ่งทั้งหมดนี้คือเป้าหมายสูงสุดของชาวพุทธนั่นเอง