คัมภีร์เตตราบิโบลส ต้นธารของโหราศาสตร์ไทยและยูเรเนียน

โดย พัลลาส (Pallas@horauranian.com)
เขียนเมื่อ สิงหาคม 2553
เพื่อลงในหนังสืองานวันโหรจรัญ ประจำปี 2553

เมื่อ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา ผมได้ไปร่วมกิจกรรม “๓๒๕ ปี จันทรุปราคาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช” กับสมาคมดาราศาสตร์ไทยและมูลนิธิสมาคมโหรฯ ตอนนั้นผมได้ถือหนังสือ “Tetrabiblos” ติดมือไปด้วย ระหว่างนั่งคุยกัน ผมได้เกริ่นกับอาจารย์อารี สวัสดี และอาจารย์พลังวัชร์ว่ากำลังอ่านหนังสือเล่มนี้อยู่ โดยคิดไว้ว่าอยากแปลหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาไทยเพื่อให้นักโหราศาสตร์ไทยที่อาจไม่ถนัดภาษาต่างประเทศได้อ่านกัน เพราะถือว่าเป็นตำราโหราศาสตร์คลาสสิคตลอดกาล อาจารย์อารี ท่านจึงได้ให้คำแนะนำว่า คัมภีร์นี้เป็นที่มาของโหราศาสตร์ทั้งไทย อินเดีย และฝรั่ง เป็นคัมภีร์ที่น่าศึกษา ต่อมา เมื่อใกล้ถึงงานวันโหรจรัญปีนี้ อาจารย์อารีท่านจึงบอกผมว่า น่าจะเขียนเรื่อง Tetrabiblos เป็นบทความลงในหนังสืองานวันโหรจรัญด้วย จึงเป็นที่มาของบทความนี้

คัมภีร์เตตราบิโบลส (Tetrabiblos) เป็นคัมภีร์ที่เขียนขึ้นโดยทอเลมี (Ptolemy) ปรมาจารย์ด้านคณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์ และโหราศาสตร์ของโลก เมื่อสองพันปีก่อน คนไทยมักจะคุ้นกับชื่อของท่านว่า ปโตเลมี มากกว่า ทอเลมี เข้าใจว่าเป็นเพราะแปลงจากตัวอักษรอังกฤษเป็นไทยโดยตรง แต่หากทับศัพท์ด้วยการอ่านออกเสียงในภาษาอังกฤษแล้ว ต้องอ่านว่า ทอเลมี รวมถึงในพจนานุกรมศัพท์ดาราศาสตร์อังกฤษ-ไทยของสมาคมดาราศาสตร์ก็ระบุว่า ทอเลมี ผมจึงตัดสินใจใช้คำว่า ทอเลมี ในบทความนี้

ptolemyทอเลมีเป็นนักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ในยุคโบราณ ท่านมีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ. 100-178 (บ้างก็ว่า ค.ศ. 90-168) ว่ากันว่า ท่านเป็นชาวโรมันที่อยู่ในเมืองอเล็กซานเดรีย อียิปต์ งานเขียนของท่านครอบคลุมมีด้วยกันหลายเล่ม แต่ที่เกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์มีอยู่ 2 เล่ม นั่นคือ อัลมาเจสต์ (Almagest) ว่าด้วยการคำนวณตำแหน่งดวงดาว และเตตราบิโบลส (Tetrabiblos) ว่าด้วยการพยากรณ์ทางโหราศาสตร์ ผมเองนั้นไม่ถนัดนักเรื่องโหราศาสตร์ภาคคำนวณ จึงสนใจคัมภีร์เตตราบิโบลสมากกว่า

คัมภีร์เตตราบิโบลสนั้นแปลว่า คัมภีร์ 4 เล่ม มาจาก Tetra แปลว่า สี่, Biblos แปลว่า ตำราหรือคัมภีร์ ในคัมภีร์นี้จึงแบ่งเป็น 4 ภาคหรือ 4 เล่มตามชื่อคัมภีร์ เล่มแรกว่าด้วยพื้นฐานความรู้ต่างๆทางโหราศาสตร์ เช่น ดาวศุภเคราห์ บาปเคราะห์, เพศชาย-หญิง, กลางวัน-กลางคืน, ธาตุสี่, ตำแหน่งเกษตร อุจจ์ ฯลฯ เล่มที่สองเกี่ยวกับการพยากรณ์ดวงเมืองและประมุขของประเทศ รวมถึงเรื่องคราส เล่มที่สามและสี่ เป็นการพยากรณ์ดวงชะตาบุคคล เช่น การปรับแก้เวลาเกิด, บิดามารดา, พี่น้อง, ฝาแฝด, การแต่งงาน, อาชีพการงาน, เพื่อนและศัตรู, การเดินทาง, ความตาย, ความมั่งคั่งร่ำรวย, ฯลฯ

เมื่อผมได้อ่านคัมภีร์เล่มนี้แล้ว ผมรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของทอเลมี เพราะความรู้โหราศาสตร์ที่ผมได้ศึกษาเล่าเรียนในปัจจุบันต่างก็มีรากฐานมาจากคัมภีร์เตตราบิโบลสด้วยกันทั้งสิ้น ผมเคยพูดเล่นๆกับเพื่อนว่า กว่า 70-80% ของความรู้โหราศาสตร์ในโลกปัจจุบันมาจากความรู้ของโหรยุคทอเลมี พูดอีกแง่หนึ่งก็คือ ตลอดระยะเวลา 2,000 ปีที่ผ่านมา โลกโหราศาสตร์สามารถพัฒนาองค์ความรู้โหราศาสตร์เพิ่มเพียง 20-30% เท่านั้นเอง

อาจารย์อารี ท่านเคยสอนเอาไว้ว่า รากฐานของโหราศาสตร์ไทยนั้นมาจากโหราศาสตร์สมัยกรีก โดยมีร่องรอยให้สืบสาวได้จากคัมภีร์สุริยยาตร์ และคัมภีร์เตตราบิโบลส สำหรับคัมภีร์สุริยยาตร์นั้น คงต้องไปถามผู้เชี่ยวชาญคัมภีร์สุริยยาตร์อย่าง อ.พลังวัชร์ แต่เท่าที่ผมอ่านอ่านคัมภีร์เตตราบิโบลส ก็เห็นหลักฐานความเป็นต้นธารของความรู้จากเมืองอเล็กซานเดรีย มาสู่โหราศาสตร์ในโลกปัจจุบันชัดเจน

ในคัมภีร์เตตราบิโบลส เล่มแรก เริ่มด้วยการประกาศแยกโหราศาสตร์ออกเป็น 2 แขนง คือโหราศาสตร์ภาคคำนวณ และโหราศาสตร์ภาคพยากรณ์ อิทธิพลจากคำประกาศของทอเลมีตรงนี้ ทำให้โหราศาสตร์ก็แบ่งเป็นสองแขนงใหญ่ๆจนกระทั่งทุกวันนี้ ทอเลมีเองก็ได้แยกความรู้สองสายนี้ออกเป็น คัมภีร์อัลมาเจสต์ สำหรับโหราศาสตร์ภาคคำนวณ และคัมภีร์เตตราบิโบลส สำหรับโหราศาสตร์ภาคพยากรณ์

คำประกาศในบทต่อมาของทอเลมีเป็นการนำโหราศาสตร์เข้าสู่ความเป็นวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง โดยบอกว่า โหราศาสตร์ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการดลบันดาลของเทพเจ้าทั้งหลาย แต่ความเชื่อมโยงของปัจจัยบนฟากฟ้ากับมนุษย์บนโลกที่เป็นหลักการพื้นฐานของโหราศาสตร์นั้นมาจากอิทธิพลของมหาภูตรูปหรือธาตุทั้งสี่ นั่นคือ ไฟ ดิน ลม น้ำ เมื่อมนุษย์เกิดมา ก็ซึมซับเอาคุณสมบัติของสภาพแวดล้อม ณ ขณะนั้น มาเป็นแผนที่ชีวิตของตน หาได้มาจากการดลบันดาลของเทพเจ้าใดๆไม่ ทอเลมีได้อธิบายเรื่องธาตุทั้งสี่ค่อนข้างละเอียด โดยบอกว่ามาจากคุณสมบัติพื้นฐาน 2 คู่ นั่นคือ ร้อน-เย็น และ ชื้น-แห้ง เรื่องธาตุทั้งสี่เป็นพื้นฐานของโหราศาสตร์ยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นโหราศาสตร์ไทย หรือสากล ในตำราของพลตรีประยูร พลอารีย์ ก็ได้กล่าวถึงความสำคัญของเรื่องธาตุไว้อย่างละเอียดและพิสดาร โหรใดไม่เข้าใจธาตุทั้งสี่ ก็ถือว่าขาดพื้นฐานสำคัญของวิชานี้ไปอย่างน่าเสียดาย

เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นความเป็นต้นธารของเตตราบิโบลสที่ส่งต่อมายังโหราศาสตร์ยุคปัจจุบัน ผมจึงขอยกตัวอย่างคำสอนบางส่วนของทอเลมีที่ส่งอิทธิพลต่อโหราศาสตร์มาถึงปัจจุบันมาเล่าให้ฟัง ที่บอกว่าบางส่วนไม่ใช่ทั้งหมดนั้น เพราะว่าคัมภีร์เตตราบิโบลสมีเนื้อหาค่อนข้างมาก แม้ว่าขนาดหนังสือไม่หนามากนัก แต่ประโยคที่เขียนขึ้นแต่ละประโยคนั้นแฝงความหมายไว้ลึกซึ้ง และต้องยอมรับว่าบางส่วนผมเองก็ยังอ่านไม่ทะลุเท่าไรนัก จึงสุดวิสัยที่จะนำมาเล่าทั้งหมด

เรื่องแรกที่ขอนำมาเล่า คือ การที่ทอเลมีได้แบ่งดาวเคราะห์ออกเป็น 3 พวก คือ ดาวศุภเคราะห์ (Benefics) หรือดาวที่ให้คุณ ได้แก่ ดาวพฤหัส ดาวศุกร์ ดาวจันทร์, ดาวบาปเคราะห์ (Malefics) หรือดาวให้โทษ ได้แก่ ดาวอังคาร และดาวเสาร์, และดาวอัพยากฤต หรือดาวที่เป็นกลาง ได้แก่ อาทิตย์ กับดาวพุธ นี่เป็นรากฐานของการพยากรณ์มาถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม โหราศาสตร์ในโลกยุคใหม่ได้พัฒนาหลักการนี้จนยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ดาวทุกดวงต่างมีด้านดีและด้านร้ายด้วยกันทั้งสิ้น เหมือนเหรียญมีสองด้าน ดาวอังคารแม้อาจให้โทษในแง่ความขัดแย้ง แต่ก็ให้คุณในแง่ความขยันขันแข็ง ตรงนี้หากเรากลับไปอ่านคัมภีร์เตตราบิโบลสให้ละเอียด เราจะพบว่า ทอเลมีได้ให้เหตุผลว่าทำไมดาวดวงนี้ถึงเป็นบาปเคราะห์ หรือทำไมดาวดวงนี้ถึงเป็นศุภเคราะห์ เช่น ดาวเสาร์เป็นบาปเคราะห์เพราะให้คุณสมบัติเย็นเกินไป, อังคารนั้นแห้งเกินไป ส่วนดาวพฤหัสนั้นให้ความอบอุ่นที่พอดีจึงเป็นดาวศุภเคราะห์ เป็นต้น เมื่อเข้าใจตรงนี้แล้ว ก็จะพบว่า สิ่งที่ทอเลมีสอนไม่ได้ต่างอะไรในเชิงปรัชญากับโหราศาสตร์ยุคใหม่เลย

ต่อมา คือเรื่องเพศ ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ทอเลมีได้เขียนไว้ นั่นคือ ธรรมชาตินั้นมี 2 เพศ คือ ชายและหญิง โดยอาทิตย์ เสาร์ พฤหัส และอังคาร เป็นเพศชาย จันทร์ และศุกร์ เป็นเพศหญิง ส่วนดาวพุธนั้นไม่แบ่งเพศ รวมถึงได้กล่าวถึงเรื่อง กลางวัน-กลางคืน กลางวันนั้นให้ความร้อนและพลังงานจึงเป็นเพศชาย ส่วนกลางคืนให้ความชุ่มชื้นและการพักผ่อนจึงเป็นเพศหญิง พื้นฐานข้อนี้มีอยู่ในทั้งโหราศาสตร์ไทย สากล และยูเรเนียน เช่นเดียวกับเรื่องธาตุทั้งสี่นั่นเอง

ทอเลมีเป็นโหราจารย์ยุคแรกๆที่แบ่งจักรราศีออกตามฤดูกาล หรือเรียกกันในปัจจุบันว่า จักรราศีแบบสายนะ (Tropical Zodiac) โดยกล่าวถึงการแบ่งฤดูกาลเป็น 4 ฤดูในแต่ละปี ได้แก่ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว ทอเลมีระบุว่า จุดวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) เป็นจุดเริ่มต้นของราศีเมษ เพราะความชุ่มชื้นของฤดูใบไม้ผลิก่อให้เกิดจุดเริ่มต้นของจักรราศี นี่ชี้ให้เห็นชัดเจนในความเป็นต้นธารมาสู่โหราศาสตร์ฝั่งตะวันตก รวมถึงยูเรเนียน ในปัจจุบัน

เรื่องมุมสัมพันธ์ก็เช่นกัน ทอเลมีได้อธิบายในเตตราบิโบลสไว้ละเอียดเกี่ยวกับการนำเรขาคณิตมาอธิบายโครงสร้างความสัมพันธ์ของมุมในวงกลม จนกลายเป็นความสัมพันธ์เชิงมุม 5 แบบ คือมุมกุม (Conjunct 0°), มุมเล็ง (Opposite 180°), มุมตรีโกณ (Trine 120°), มุมฉาก (Square 90°) และมุมโยค (Sextile 60°) มุมทั้งห้านี้ ปัจจุบันเรียกกันว่า มุมทอเลมี (Ptolemaic Aspects) และเป็นหลักสำคัญของโหราศาสตร์ยุคปัจจุบัน ในโหราศาสตร์ไทยนั้น การดู ดวงอีแปะ ก็จะเน้นการทำมุม 5 แบบนี้เช่นกัน โดยมุมอีก 2 มุมที่เหลือ คือมุมปลายหอก (Inconjunct 150°) และมุมขนาบ (Semi-Sextile 30°) ถือว่าเป็นมุมรองลงไป ส่วนโหราศาสตร์สากลนั้นมีการพัฒนามุมรอง เช่น มุม 30°, 45°, 72°, 135°, 144°, 150° ฯลฯ ขึ้นมาในยุคกลาง แต่หลักใหญ่ก็ยังใช้มุมทอเลมีนั่นเอง จะมีแต่โหราศาสตร์ยูเรเนียนที่ท่านอัลเฟรด วิตเตอ พัฒนาขึ้นมาเท่านั้น ที่ให้อิทธิพลของมุม 0°, 180°, 90°, 45°, 135° หรือมุมแข็ง (Hard Aspects) โดดเด่นกว่ามุมตรีโกณหรือมุมโยค

สำหรับมุมปลายหอก (Inconjunct 150°) นั้น ทอเลมีได้แยกอธิบายออกมา 1 บทเป็นการเฉพาะ โดยระบุว่าเป็นมุมที่แตกต่างกัน (Inconjunct and Separated) เพราะมุมนี้แบ่งวงกลมจักรราศีออกเป็นส่วนที่ไม่เท่ากัน มุมนี้จึงไม่ได้รวมเข้าไปในมุมของทอเลมี

ทอเลมีได้จัดให้ดาวเคราะห์ครองราศีต่างๆ หรือเรียกกันว่า ดาวเกษตร โดยเริ่มต้นกำหนดให้จันทร์และอาทิตย์ครองราศีทางทิศเหนือสุดของโลก นั่นคือ ราศีกรกฎ (เพศหญิง) และราศีสิงห์ (เพศชาย) จากนั้นกำหนดให้ราศีจากสิงห์ถึงมกรเป็นอัฒจักรฝ่ายสุริยะ และให้ราศีจากกุมภ์ถึงกรกฎเป็นอัฒจักรฝ่ายจันทรา แล้วกำหนดให้ดาวเคราะห์ที่เหลือเป็นเกษตร 2 ราศี ครองทั้งราศีฝ่ายสุริยะและฝ่ายจันทรา เริ่มต้นจากดาวเสาร์ที่มีลักษณะหนาวเย็นจึงให้อยู่ไกลจากดาวที่มีแสงสว่างทั้งอาทิตย์และจันทร์มากที่สุด คือราศีมกรและกุมภ์ จากนั้นไล่ย้อนหลังกลับมาคือ ดาวพฤหัสครองราศีธนูและมีน ดาวอังคารครองราศีพิจิกและเมษ ดาวศุกร์ครองราศีตุลและพฤษภ สุดท้ายดาวพุธครองราศีกันย์และมิถุน การจัดดาวเคราะห์ครองเกษตร 2 ราศีเช่นนี้เป็นระบบที่ใช้มายาวนานจนกระทั่งถึงปัจจุบัน โหรไทยส่วนใหญ่ก็ยังใช้ดาวเกษตรสองราศีเช่นนี้เหมือนกับทอเลมี แม้ว่าเมื่อมนุษย์ค้นพบดาวมฤตยู เนปจูน พลูโต และโหรยุคใหม่ก็จัดให้ดาวทั้งสามดวงครองราศีต่างๆ แต่โหรไทยส่วนใหญ่และโหรสากลที่ใช้หลักกาลชะตา (Horary) แบบดั้งเดิมก็ยังคงนิยมดาวเกษตร 2 ราศีตามแบบของทอเลมีเมื่อสองพันปีก่อนเช่นเดิม

สำหรับดาวอุจจ์ (Exaltation) หรือบางครั้งก็นิยมเรียกว่า มหาอุจจ์ นั้น ทอเลมีอธิบายไว้ค่อนข้างละเอียดกว่าตำราโหราศาสตร์ทั่วไป เช่น อาทิตย์เริ่มโคจรปัดขึ้นเข้าสู่อัฒจักรภาคเหนือเมื่อเข้าราศีเมษ และเป็นจุดเริ่มต้นที่กลางวันยาวนานกว่ากลางคืน ทอเลมีจึงให้อาทิตย์เป็นอุจจ์ในราศีเมษ ฯลฯ โดยสรุปคือ ทอเลมีให้ อาทิตย์เป็นอุจจ์ในราศีเมษ เสาร์เป็นอุจจ์ในราศีตุล จันทร์เป็นอุจจ์ในราศีพฤษภ พฤหัสเป็นอุจจ์ในราศีกรกฎ อังคารเป็นอุจจ์ในราศีมกร ศุกร์เป็นอุจจ์ในราศีมีน และพุธเป็นอุจจ์ในราศีกันย์ การจัดดาวเคราะห์เป็นอุจจ์ในราศีต่างๆโดยทอเลมีนี้ก็ได้ส่งต่อมายังโหราศาสตร์ยุคปัจจุบันเช่นเดียวกับเรื่องดาวเกษตร

จุดเด่นประการหนึ่งของโหราศาสตร์ยูเรเนียนที่ท่านวิตเตอได้คิดค้นขึ้นมานั่นคือ การใช้กฎการสะท้อน (Antiscion) มาใช้อย่างพิสดาร ซึ่งท่านวิตเตอได้เคยชี้แจงต่อโหรยุคนั้นแล้วว่า สิ่งที่ท่านค้นพบไม่ได้เป็นของใหม่ แต่เป็นการแตกยอดออกจากตำราเตตราบิโบลสของทอเลมีนั่นเอง ผมได้ลองค้นดูพบว่า ทอเลมีได้กล่าวถึงอิทธิพลของดาวที่อยู่เดคลิเนชั่นเดียวกันแต่อยู่คนละด้านของเส้นศูนย์สูตร รวมถึงกล่าวถึงการสะท้อนจากแกนเมษ-ตุล และแกนกรกฎ-มกร ด้วย นั่นหมายถึงว่า เตตราบิโบลสก็มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อโหราศาสตร์ยูเรเนียนนั่นเอง นี่ยังไม่ได้กล่าวถึงการนำจุดองคลาภ (Part of Fortune) ที่เป็นที่มาของพระเคราะห์สนธิ มาใช้ในการพยากรณ์ดวงชะตาอย่างพิสดารที่ทอเลมีอธิบายไว้ในเตตราบิโบลสเช่นกัน

ในเรื่องเรือนชะตานั้น ทอเลมีเองเขียนหลักการพยากรณ์โดยใช้เรือนชะตาไม่มากนัก ส่วนใหญ่การพยากรณ์ของทอเลมีจะเน้นไปที่การดูดาวเคราะห์ที่ให้อิทธิพลต่อเรื่องแต่ละเรื่องโดยตรงมากกว่า อย่างไรก็ตาม บางตอนของเตตราบิโบลส ทอเลมีได้อธิบายว่า เรือนที่ 1 เริ่มจากนับถอยหลังจากลัคนาไป 5 องศา และนับมา 30 องศา นั่นหมายความว่า เป็นเรือนชะตาแบบเท่า คือทุกเรือนมีความกว้างเท่ากับ 30 องศาทั้งหมด นอกจากนี้ โหราศาสตร์ในยุคกรีก (Hellenistic Astrology) มีการใช้เรือนชะตาแบบ Whole Signs อย่างแพร่หลาย เรือนชะตาแบบ Whole Signs นี้คือการที่ถือว่าเส้นแบ่งราศีคือเส้นแบ่งเรือน เรือนที่ 1 คือเรือนที่ ลัคนาสถิตอยู่ พูดง่ายๆคือเรือนชะตาแบบโหราศาสตร์ไทยนั่นเอง ข้อแตกต่างเล็กน้อยคือ โหรยุคโบราณมีการคำนวณเมอริเดียนใส่เข้าไปในดวงชะตาด้วย ซึ่งอาจทำให้เมอริเดียนไม่ได้อยู่ในเรือนที่ 10 ก็ได้ เรือนชะตาแบบ Whole Signs นี้ มีโหรต่างประเทศบางท่านเชื่อว่า เป็นระบบที่ทอเลมีใช้ แต่เท่าที่ผมอ่านในเตตราบิโบลส ก็ยังไม่เห็นว่าทอเลมีใช้ระบบดังกล่าว อีกทั้งโหรร่วมสมัยกับทอเลมีที่เขียนตำราเกี่ยวกับเรือนชะตาไว้ค่อนข้างมากก็คือ มาร์คัส มานิเลียส (Marcus Manilius) หากท่านใดสนใจเรื่องเรือนชะตาในยุคโบราณน่าจะไปค้นคว้าในคัมภีร์ Astronimica ของมานิเลียสมากกว่า

เท่าที่เล่ามานี้เป็นเพียงบางส่วนจากคัมภีร์เตตราบิโบลสเท่านั้น เนื้อหาในคัมภีร์ยังมีอีกมาก และเต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ น่าศึกษา และสามารถนำมาต่อยอดให้กับโหราศาสตร์ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้ ผมขอหยิบยกมาเพียงเท่านี้ ซึ่งก็เพียงพอที่จะพิสูจน์แล้ว่า คัมภีร์เตตราบิโบลสเป็นต้นธารของโหราศาสตร์ไทยและยูเรเนียนจริงๆ และหวังไว้ว่า บทความนี้จะทำให้หลายๆท่านเริ่มสนใจศึกษาคัมภีร์เตตราบิโบลสเพื่อค้นหาเพชรน้ำเอกของโหราศาสตร์ร่วมกัน

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s