วันนี้ (12 ก.ค. 55) อ่านหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หน้าจุดประกาย เจอบทความที่น่าสนใจ “ข้างหลังพระ (สมเด็จฯ)” เขียนโดย คุณกวิน ธาราพิพัฒนกุล เนื้อหากล่าวถึง หลวงวิจารณ์เจียรนัย หัวหน้าช่างทองหลวงในราชสำนักรัชกาลที่ 4 เป็นผู้แกะแม่พิมพ์ที่ใช้สร้างพระเครื่องถวายสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต วัดระฆังฯ โดยใช้สัดส่วนทองคำ (Golden Ratio) จนกลายเป็น พระสมเด็จฯ อันเป็นตำนานแห่งวงการพระเครื่องไทย
สัดส่วนทองคำ คือ 1:1.61803399… เป็นสัดส่วนเลขคงที่ปรากฏตั้งแต่อารยธรรมกรีก พบในอนุกรมคณิตศาสตร์ที่เรียกว่า อนุกรมฟีโบนาชี่ (Fibonacci Series) ค่าสัดส่วนทองคำนี้ถูกนำไปใช้ในการออกแบบสถาปัตยกรรมชั้นเลิศ ไม่ว่าจะเป็น วิหารพาเธนอนในกรีก ทัชมาฮาลในอินเดีย รวมไปถึงงานจิตรกรรม ประติมากรรม นอกจากนี้ ในวงการการเงิน นักวิเคราะห์แบบเทคนิคก็นำสัดส่วนนี้มาใช้ในทฤษฎีคลื่นเอลเลียต (Elliot Wave) กันอย่างกว้างขวาง
ในบทความดังกล่าว บอกว่า ความยาวของฐานองค์พระสมเด็จฯ ต่อ ความสูงจากฐานพระถึงจรดปลายพระเกศาขององค์พระ จะเท่ากับสัดส่วน 1:1.618 พอดี นั่นทำให้พระสมเด็จฯของสมเด็จโตจึงมีสัดส่วนสมบูรณ์แบบ ส่งผลให้เป็นพระเครื่องในตำนาน
ในมุมมองของเลขศาสตร์ หากเรานำตัวเลข 1.61803399… มาบวกกัน แม้ว่าเลข 9 ที่ต่อท้ายจะไม่สิ้นสุด แต่ไม่เป็นปัญหาในวิชาเลขศาสตร์ เพราะเลข 9 ไปบวกกับเลขอะไรก็ตาม ก็ได้ผลลัพธ์เป็นเลขตัวนั้นเหมือนเดิม กรณีนี้ 1+6+1+8+0+3+3+9+9 = 40 เอาเลข 4+0 = 4
ตำราเลขศาสตร์ไคโร ระบุว่า เลข 4 คือดาวมฤตยู (Uranus) บุคคลเลข 4 เป็นบุคคลที่มีบุคลิกเป็นตัวของตัวเอง มีมุมมองที่แตกต่างจากคนอื่นเสมอ นั่นอาจส่งผลให้งานที่ใช้สัดส่วนทองคำนี้มีความแตกต่างจากงานทั่วไปก็เป็นได้
และหากเราวิเคราะห์จากวิชาเลขศาสตร์ไพ่ทาโรต์ที่อาจารย์กามลสอนเอาไว้ เลข 4 คือไพ่จักรพรรดิ (Emperor) ซึ่งหมายถึง ชนชั้นผู้นำ ผู้ทรงเกียรติยศศักดิ์ศรี ความหรูหราใหญ่โต ความยิ่งใหญ่อลังการ นั่นทำให้สัดส่วนทองคำจึงเป็นตัวเลขแห่งความยิ่งใหญ่สมกับการเป็นสัดส่วนทองคำนั่นเอง
โดย Pallas แห่ง http://www.horauranian.com